“ปิยบุตร” ลุ้นดันร่างแก้ไข รธน. 3 ฉบับ ชวนสังคมกดดัน ชี้ทำได้พร้อมกันทันที

วันที่ 3 สิงหาคม 2563 เฟซบุ๊กแฟนเพจของคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความคำพูดของปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในแกนนำคณะก้าวหน้าต่อประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่สังคมกำลังกล่าวถึงกันเป็นวงกว้างมากขึ้นว่า
ข่าวที่ปรากฏตามหน้าสื่อ ประเด็นการเมืองที่สำคัญหนีไม่พ้นเรื่อง #แก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งล่าสุด คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎร เสนอแนวทาง “แก้ไขวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ” มาตรา 256 พร้อมเพิ่มบทบัญญัตให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.
.
แต่ไม่ทันไร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็ออกโรงกระโดดมาปกป้อง อาทิ สมชาย แสวงการ ไม่เห็นด้วยกับการให้มี ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งเล่ม โดยเสนอให้แก้ไขเป็นรายมาตรา ขณะที่ พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช บอกว่าถ้าแก้มาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร. กระบวนการจะยากมาก และเปลืองงบประมาณเนื่องจากต้องทำประชามติ จึงเสนอแก้เป็นรายมาตราเช่นกัน
.
เรื่องราวข่าวคราวเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น ได้รับการพูดถึงและกลับมาปรากฏในพื้นที่สื่ออีกครั้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการกดดันของเยาวชน นิสิตนักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ออกมาชุมนุม พร้อมเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อถึงรัฐบาล โดยหนึ่งในนั้นคือเรื่องให้มีการร่าง #รัฐธรรมนูญใหม่
.
ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการ #คณะก้าวหน้า วันนี้แม้ตัวเขาไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แต่ยังมีบทบาทในฐานะ กมธ. พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560
.
อีกทั้งก่อน กมธ. ชุดนี้จะมีมติออกมาดังกล่าว ปิยบุตรก็ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 3 ฉบับ ที่เขาทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมให้ ส.ส. หรือ รัฐบาล หยิบนำไปผลักดันต่อได้ทันที ได้แก่
.
1. ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อยกเลิกมาตรา 279 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายของรัฐธรรนูญที่ให้ความคุ้มครอง รับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบรรดาประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งหมด ซึ่งหากยกเลิกไป ก็จะหมายความว่าบุคคลทั้งหลาย อาจจะสามารถโต้แย้งได้ว่าประกาศคำสั่งของ คสช. ของหัวหน้า คสช. นั้นอาจจะขัดรัฐธรรมนูญได้
.
2. ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อยกเลิก 4 มาตราคือ 269 -272 ที่ว่าด้วยเรื่อง ส.ว. ตามบทเฉพาะกาล โดยถ้ามีการยกเลิกไป ส.ว.250 คน ก็จะพ้นจากตำแหน่ง และให้กลับไปใช้วุฒิสภาตามระบบปกติของรัฐธรรมนูญที่มาจากสรรหาตามกลุ่มอาชีพ ซึ่งอำนาจของ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลก็จะหมดไปด้วย กรณี 5 ปี ให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงร่วมออกแบบกฎหมายปฏิรูปต่างๆ อำนาจนี้จะสิ้นสุดลงทันที
.
3. ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อปรับวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งก็คือ มาตรา 256 โดยทำให้ง่ายขึ้น คือใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา พร้อมกันนั้นก็เพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือ กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แล้วให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
.
ในส่วนของข้อ 3 นั้น คือ สิ่งที่ กมธ. พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้มีมติและแถลงข่าวเสนอแนวทางนี้ไปเป็นที่เรียบร้อย ขณะที่ข้อ 1 และข้อ 2 โดยเฉพาะเรื่องยกเลิก ส.ว. หลายคนอาจบอกว่า ปิยบุตร เพ้อเจ้อ เพ้อฝัน เพราะจะมีหรือเมื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิก ส.ว. แล้ว ฝ่าย ส.ว. จะยกมือเห็นด้วย
.
โดย ปิยบุตร กล่าวในการปราศรัยที่เวทีท้องถิ่นของคณะก้าวหน้า จ.สมุทรปราการ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่า “ถ้าพี่น้องลองกดดัน ช่วยกันกดดัน ก็อาจเป็นไปได้”
.
ปิยบุตร กล่าวอย่างมีความหวัง เขาชวนคิดภาพตามด้วยว่า “สมมติว่าวันนี้มีการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่ออภิปรายกันในเรื่องนี้ ส.ส. นั่งซีกหนึ่ง ขณะที่ ส.ว. นั่งซีกหนึ่ง เราก็จะได้เห็น ส.ว. 250 คน ลุกขึ้นอภิปรายเข้าข้างตัวเองว่า พวกผมดีอย่างนั้น พวกผมยอดเยี่ยมอย่างนี้ พวกผมต้องอยู่ต่อ พวกผมต้องปฏิบัติหน้าที่ แล้วพูดอย่างนี้ทั้งวัน เด็กอมมือดูก็รู้ว่าคุณพูดเพื่ออะไร คุณไม่ยอมให้แก้รัฐธรรมนูญเรื่องนี้เพราะอะไร ก็เพราะประโยชน์ของคุณ คุณอยากเป็น ส.ว. ต่อ”
.
ปิยบุตร กล่าวด้วยว่า ส.ว. 250 คน หลายคนนั้นก็เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ แต่ว่าก็ควรจะมาด้วยวิธีการที่สง่างามกว่านี้ โดยไปสมัครเข้าเป็น ส.ว. ตามระบบปกติ ส่วนวิธีพิเศษที่ คสช.เลือกมาถึงเวลาจบได้แล้ว
.
“ถ้ามีการประชุมรัฐสภา อภิปรายเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้น แล้วพี่น้องประชาชนยังชุมนุมกดดันเรียกร้องอยู่ ผมเชื่อว่า ส.ว. อาจจะหน้าบางมากขึ้น อาจจะมียางอายมากขึ้นที่จะไม่โหวตให้ตัวเอง เพราะมันจะดูตลกที่สุดเลยกับการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อขอยกเลิก ส.ว. 250 คน แล้ว ส.ว. 250 คนยกมือบอกไม่ให้แก้ ความชอบธรรมของวุฒิสภาจะยิ่งพังลงไปอีก ดังนั้นไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่เรื่องนี้ก็ต้องลองผลักดันดูให้ทันในสมัยประชุมนี้”
.
ปิยบุตร กล่าวทิ้งท้าย ฝากถึงพี่น้องประชาชนทุกคนด้วยว่า เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญอย่าหยุดพูด อย่าหยุดเรียกร้อง เพราะเราถ้าหยุดเมื่อไหร่ ถ้ากระแสตกเมื่อไหร่ก็จะไม่มีการแก้เกิดขึ้น เพราะวันนี้ที่กระแสกลับมา ที่เริ่มหันมาพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง นั่นเป็นเพราะกระแสนอกสภาที่กำลังขึ้น ดังนั้น ต้องเดินหน้าเรื่องนี้ต่อ ยังมีเวลารณรงค์กันให้ทันสมัยประชุมนี้
.
ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง จะมีผล 19 ก.ย. 2563 ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้านคาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีการยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
.
ส่วนจะออกมาเป็นแบบไหนนั้น รอลุ้น