แฉอิหร่านปกปิดตัวเลขจริงผู้ป่วยโควิด พบตายเกือบ 4.2 หมื่น ติดเชื้อกว่า 4.5 แสน

วันที่ 3 สิงหาคม 2563 บีบีซี รายงานข้อมูลรั่วไหลจากแหล่งข่าววงในถึงจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจาก โรคโควิด-19 ใน ประเทศอิหร่าน ซึ่งไม่ตรงกับสถิติที่กระทรวงสาธารณสุขอิหร่านแถลงอย่างเป็นทางการ

โดยข้อมูลของรัฐบาลระบุว่าจนถึงวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา อิหร่านมีผู้เสียชีวิตจากไวรัสมรณะเกือบ 42,000 ราย มากกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตในวันเดียวกันที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงว่ามีอย่างน้อย 14,405 ราย เกือบ 3 เท่า

ส่วนยอดผู้ป่วยสะสมในรายงานของรัฐบาลระบุว่ามีมากถึง 451,024 คน เกือบ 2 เท่าของรายงานยอดผู้ติดเชื้อสะสมของกระทรวงซึ่งอยู่ที่ 278,827 คน ท่ามกลางการตั้งข้อสงสัยถึงจำนวนผู้ติดเชื้อจริงๆ ในอิหร่าน

ขณะที่ตัวเลขจากเว็บไซต์รวบรวมสถิติโรคโควิด-19 ระหว่างประเทศซึ่งใช้ข้อมูลยืนยันของทางการอิหร่าน ระบุว่าพบผู้ติดเชื้อรายวันในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาอีก 2,685 คน ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 309,437 คน และเสียชีวิตแล้ว 17,190 ราย

แหล่งข่าวไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อส่งข้อมูลมายังบีบีซี พร้อมระบุว่าต้องการเปิดเผยความจริง และยุติการเล่นเกมการเมืองบนวิกฤตโรคระบาด ข้อมูลที่บีบีซีได้รับมีตัวเลขผู้ป่วยรายวันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศ รวมทั้งระบุชื่อ อายุ เพศ ระยะเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาล รวมถึงโรคประจำตัวที่ผู้ป่วยอาจมีอยู่แล้ว

เบื้องต้นฝ่ายข่าวสอบสวนของบีบีซีไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าแหล่งข่าวที่ส่งข้อมูลมาให้นั้นทำงานอยู่ในหน่วยงานของรัฐบาลอิหร่านหรือไม่ และเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้อย่างไร แต่รายละเอียดบางส่วนของผู้ป่วยทั้งที่ยังมีชีวิตและเสียชีวิตในข้อมูลชุดนี้เป็นผู้ติดเชื้อที่บีบีซีรับทราบข้อมูลมาก่อนแล้ว

นอกจากนี้ความคลาดเคลื่อนระหว่างตัวเลขของทางการกับจำนวนผู้เสียชีวิตในรายงานเหล่านี้ยังตรงกับความแตกต่างระหว่างตัวเลขทางการกับการคำนวนอัตราการตายส่วนเกินจนถึงกลางเดือนมิ.ย. ซึ่งมีจำนวนที่มากเกินกว่าสิ่งที่คาดหมายในภาวะปกติ

รายงานชุดเดียวกันยังระบุอีกว่าพบผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รายแรกในอิหร่าน เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2563 เกือบ 1 เดือนก่อนรายงานยืนยันของทางการที่แถลงต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 19 ก.พ. นพ.โมฮัมหมัด โมลายี และ นพ.อาลี โมลายี แพทย์สองพี่น้องจากเมืองกอม เปิดเผยว่าพี่ชายของพวกตนมีอาการเข้าข่ายป่วยเป็นโรคโควิด-19 ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันมีผู้ป่วยต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 จำนวนหนึ่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาลและไม่สามารถใช้วิธีการรักษาตามปกติได้

อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนไข้ต้องสงสัยได้ตรวจหาเชื้อและไม่ปรากฏว่าผู้ใดติดไวรัสมรณะ แต่นพ.โมฮัมหมัดและนพ.อาลีเชื่อว่าพี่ชายเสียชีวิตเพราะโรคโควิด-19 เลยเดินหน้าประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขจนในที่สุดมีการตรวจหาเชื้อและพบว่าพี่ชายติดไวรัสโควิด-19 จากนั้นกดดันกระทั่งกระทรวงสาธารณสุขยอมรับพี่ชายของพวกตนเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่เสียชีวิตรายแรกในประเทศ

นพ.ปูลาดี (นามสมมุติ) หนึ่งในแพทย์ที่รู้เกี่ยวกับข้อมูลรั่วไหลของทางการ กล่าวกับบีบีซีว่ากระทรวงสาธารณสุขอยู่ภายใต้การกดดันอย่างหนักจากหน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยข่าวกรองของประเทศ “เดิมทีพวกเขาไม่มีชุดตรวจหาเชื้อ และเมื่อพวกเขาได้รับชุดตรวจก็กลับไม่ใช้งานอย่างกว้างขวาง” และว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ยอมรับความจริงว่าสถานการณ์โรคระบาดในประเทศนั้นวิกฤตหนัก