‘บิ๊กป้อม’ ย้ำ กก.แม่น้ำโขง ศึกษาผลกระทบ สร้าง ‘เขื่อนสานะ’ รอบคอบ ก่อนเสนอลาว

บิ๊กป้อม ห่วงเขื่อนสานะคาม กระทบคนไทยริมโขง กำชับเข้มต้องวิเคราะห์ลึกทุกประเด็น ก่อนเสนอท่าทีต่อ สปป.ลาว

วันนี้ (3 ส.ค. 63) เวลา 10.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในโอกาสเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ว่า ในที่ประชุมวันนี้ได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางและท่าทีของฝ่ายไทย กรณีการก่อสร้างโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสานะคาม ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว ที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้ ซึ่งปัจจุบันโครงการฯ ได้เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ตามระเบียบปฏิบัติ เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) แล้ว เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงได้มีการหารือ ศึกษา วิเคราะห์ และให้ข้อเสนอแนะ ประเด็นข้อห่วงกังวล มาตรการ และแนวทางร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับต่าง ๆ

รัฐบาลไทยมีความห่วงใยต่อผลกระทบในด้านต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องด้วยที่ตั้งของเขื่อนสานะคามอยู่ใกล้ชายแดนไทยมาก คือมีระยะห่างเพียง 2 กิโลเมตร เท่านั้น ที่ประชุมจึงมีมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์อย่างรอบด้านและให้ความสำคัญเชิงลึกกับทุกประเด็นทางเทคนิค อาทิ ด้านผลกระทบต่อเส้นพรมแดน อุทกวิทยาและชลศาสตร์ ตะกอนและสัณฐานแม่น้ำ การเปลี่ยนแปลงร่องน้ำ ประมงและสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยเขื่อน การเดินเรือ และเศรษฐกิจสังคม โดยเฉพาะเรื่องเขื่อนพิบัติ และการใช้งานเขื่อน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังได้มอบหมาย สทนช.เร่งหารือหน่วยงานเกี่ยวข้องในการเตรียมการป้องกันรับมือผลกระทบในข้อห่วงกังวลต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงพลังงานที่จะต้องนำประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดนไปพิจารณาเป็นเงื่อนไขในการดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าด้วย เพื่อให้เกิดกลไกในการป้องกัน ลด และบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งให้เร่งสร้างการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ภาคประชาชน และนำเสนอกับทาง สปป.ลาว โดยเฉพาะมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนให้เกิดความชัดเจนทั้งกรณีเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนหลวงพระบาง ก่อนจะมีการดำเนินการตาม ตามแผนงาน (Roadmap) ของกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าตาม PNPCA ของเขื่อนสานะคามในระยะต่อไป
พลเอก ประวิตร กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในหลักการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการระหว่างไทยและสปป.ลาว เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุตุ-อุทกวิทยา การบริหารจัดการอาคารประกอบ หรือเขื่อนตอนบนในลุ่มน้ำโขงที่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำตอนล่างและส่งผลถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงได้ทันเวลา ซึ่งไทยยังสามารถใช้กลไกนี้ในการให้ความช่วยเหลือ สปป.ลาว ในด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรบุคคลและถ่ายทอดองค์ความรู้วิชาการด้านทรัพยากรน้ำอีกด้วย โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่าง 2 ประเทศ และยกระดับความร่วมมือจากระดับหน่วยงานเป็นระดับรัฐบาล โดยให้มีผลผูกพันตามข้อตกลง รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น ให้การสนับสนุนเพื่อให้ความร่วมมือดังกล่าวแล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อที่จะใช้เป็นกลไกในการบริหารจัดการน้ำและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนริมน้ำโขงอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยให้ยกระดับความร่วมมือจากระดับหน่วยงานเป็นความร่วมมือระดับรัฐบาล เพื่อให้มีผลผูกพันตามข้อตกลง และมีการหารือหน่วยงานด้านความมั่นคงและกระทรวงการต่างประเทศด้วย