‘ซินลากู’ ไม่ช่วย โคราชยังวิกฤติขาดแคลนน้ำ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่-ขนาดกลาง เหลือน้อย

จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2563 เรื่อง “พายุระดับ 3 (โซนร้อน ซินลากู) (SINLAKU)” ที่ก่อตัวบริเวณอ่าวตังเกี๋ย มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 160 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกของเมืองวินห์ ประเทศเวียดนาม และได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน เคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศลาว และจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ โดยในช่วงวันที่ 3-4 สิงหาคม 2563 พื้นที่ที่คาดว่า จะได้ผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ. เลย , หนองบัวลำภู , อุดรธานี , หนองคาย , ชัยภูมิ , ขอนแก่น ,นครราชสีมา และจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งลักษณะอากาศดังกล่าว ส่งผลให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่จังหวัด

แต่ที่จังหวัดนครราชสีมา พบว่า มีฝนตกแต่ไม่มากนัก ทำให้ปริมาตรน้ำกักเก็บใน 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และ 23 อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีปริมาตรน้ำกักเก็บอยู่ในเกณฑ์ น้ำน้อย จำเป็นต้องดึงน้ำกักเก็บไปใช้เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคให้กับประชาชนในหลายพื้นที่ของจังหวัด ที่ต้องประสบภาวะภัยแล้ง ฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว

ซึ่งข้อมูลวันที่ 2 สิงหาคม 2563 สภาพน้ำล่าสุดของอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ที่เป็น 1 ใน 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา เหลือน้ำอยู่ที่ 96 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 30.44 % เท่านั้น และเป็นน้ำใช้การได้เพียง 73 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 25.02 % ซึ่งเป็นปริมาตรน้ำคงเหลือที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับปี 2562 ในช่วงเวลาเดียวกัน ที่มีปริมาตรน้ำคงเหลือถึง 143 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 46 % ของความจุกักเก็บ ส่วนอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง ปัจจุบัน มีปริมาตรน้ำเหลือ 42 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 27.41% และเป็นน้ำใช้การได้ 41 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 27.07 % ,อ่างเก็บน้ำมูลบน มีปริมาตรน้ำเหลือ 24 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 17.37 % เป็นน้ำใช้การได้ 17 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 13.06 % และอ่างเก็บน้ำลำแชะ มีปริมาตรน้ำเหลือ 38 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 13.95% และเป็นน้ำใช้การได้ 31ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 11.70 % รวม 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของจังหวัด มีปริมาตรน้ำคงเหลืออยู่ที่ 201 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 22.71 % แต่เป็นน้ำใช้การได้ 163 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 19.29 % เท่านั้น ในขณะที่ 23 อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีปริมาตรน้ำคงเหลืออยู่ที่ 64 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 19.40 % แต่เป็นน้ำใช้การได้ 39ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 12.92 % ทำให้ปริมาตรน้ำภาพรวมทั้งหมดในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง เหลือน้ำอยู่ที่ 265 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 21.81% และเป็นน้ำใช้การได้ 203 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 17.60 % ซึ่งทางสำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำช่วยการอุปโภคบริโภค ในจังหวัดนครราชสีมาแล้ว จำนวน 26 เครื่อง

ขณะที่นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้กำชับเน้นย้ำให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกพื้นที่ ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการกักเก็บน้ำเข้าในเขื่อนหรือแหล่งกักเก็บต่างๆ เนื่องจากในช่วงนี้มีปริมาณฝนตกลงมาต่อเนื่อง ต้องเร่งสูบน้ำไปกักเก็บไว้เพื่อรองรับกับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะตามมาหลังสิ้นฤดูฝนปีนี้ แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่น่ากังวลใจ เพราะน้ำไม่ไหลลงในอ่างเก็บน้ำ และจากสาเหตุมาจากความชื้นในดินที่ลดลงจากการดึงน้ำใต้ดินมาใช้มากขึ้น ทำให้ความสามารถในการเก็บน้ำใต้ดินลดลง ดินไม่อุ้มน้ำ เวลามีฝนตกลงมาน้ำจึงไหลลงสู่พื้นดินจนหมด และอีกหลายๆสาเหตุ
ซึ่งขณะนี้ต้องแจกจ่ายน้ำเร่งด่วนให้กับ 46 หมู่บ้านที่วิกฤติขาดแคลนน้ำ หากฝนหมดต้องเจอกับความยากลำบากอีก ขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำและปฏิบัติตามแผนที่ทางภาครัฐกำหนด เพื่อสำรองไว้ใช้ให้ได้มากที่สุดช่วงหน้าแล้ง