“เสธ.อู้” ไม่เห็นด้วย ตั้งส.ส.ร.ยกร่างรธน. ชี้ เปลืองงบ-เสียเวลา แนะ แก้รายมาตราไปเลย

“เสธ.อู้” ไม่เห็นด้วย ตั้งส.ส.ร.ยกร่างรธน.ชี้ สิ้นเปลืองงบ ทำเสียเวลา เสนอแก้แบบรายมาตราเหมาะสมกว่า ตรงประเด็น ใช้เวลาไม่นาน

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า ส่วนตัวมองว่าเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าแก้มาตรา 256 เพื่อให้มีส.ส.ร.กระบวนการจะยาวมาก และเสียงบประมาณด้วย เนื่องจากการแก้มาตราดังกล่าวต้องมีการทำประชามติ แม้จะผ่านการพิจารณา 3 วาระแล้วก็ต้องทำประชามติ เสียงบประมาณ กว่า 4 พันล้านบาท และถ้าส.ส.ร.ยกร่างขึ้นใหม่ก็ต้องไปทำประชามติอีก เสียงบประมาณอีก 4 พันล้านบาท อีกทั้ง ส.ส.ร.จะมาจากใด หากร่างขึ้นมาแล้วบางมาตรา ส.ว.ไม่เห็นด้วย บางมาตราฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย บางมาตราฝ่ายรัฐบาล ไม่เห็นด้วย ก็แก้ไม่ได้ เพราะถึงใช้ส.ส.ร.แต่ก็ต้องมาผ่านกระบวนการเห็นชอบตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ด้วย ดังนั้น การมีส.ส.ร.ยกร่างอาจทำไม่สำเร็จ

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพิ่งใช้มาได้ประมาณ 3 ปี ใช้จริงก็ประมาณปีกว่าตอนมีส.ส.-ส.ว. เพราะฉะนั้น หากมารื้อใหม่หมดทั้งฉบับ มองว่าไม่น่าจะรีบเร่ง แต่หากมาตราใดที่เห็นว่าสมควรแก้ก็ควรว่ากันเป็นรายมาตรา ยกร่างเข้ามาในสภา อันไหนเอาด้วย อันไหนไม่เอาด้วย ก็จะรู้กัน หากวันนี้ไปรื้อใหม่มันเร็วไป ส่วนตัวก็อยากแก้ไขเช่นกันอย่างน้อย 2 ประเด็น คือ ที่มาของส.ว.ในอนาคต ซึ่งไม่ใช่ชุดปัจจุบัน เพราะวิธีการได้มาซึ่งส.ว.มันสลับ ซับซ้อน ไม่ได้คนที่มีความรู้ ความสามารถ และไม่น่าได้คนที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมทั้งการเลือกส.ส.ด้วยระบบจัดสรรปันส่วนผสม ไม่ได้ขัดข้องแต่มีหลายอย่างที่ควรปรับปรุงเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ถ้าแก้ไข ไม่ต้องไปทำประชามติเลย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับไว้ ส่วนอำนาจของส.ว.ในบทเฉพาะกาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูป ยุทธศาสตร์ การออกกฎหมาย การเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ต้องว่ากัน เสนอเข้ามาได้ ถ้ารัฐบาลและส.ว.เห็นด้วยก็สามารถแก้ได้

“ยกร่างมาเลย กี่มาตรา มาสู้กันในสภาฯ รู้ผลเร็วด้วย ไม่ต้องรอประชามติ คิดว่าแก้รายมาตราจะเร็วกว่าและเข้าประเด็นมากกว่าว่าจะแก้ตรงใด ใช้เวลาสั้นกว่าและประหยัดด้วย ”

ส่วนที่มองว่าส.ว.เป็นอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ยืนยันว่าส.ว.ไม่ได้เป็นอุปสรรค ถ้าอะไรที่ถึงเวลาต้องแก้ ส.ว.ก็คงไม่ขัดข้อง เพียงแต่ยังไม่ได้พูดคุยกัน ดังนั้น เสนอเข้ามาได้ บางเรื่องส.ว.อาจเห็นด้วย แต่ฝ่ายค้านอาจไม่เห็นด้วยก็ได้ เชื่อว่าสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ ทางส.ว.คงไม่ขัดข้อง เพราะเรามองประโยชน์และภาพรวมเป็นหลัก