อดีตกรธ. โพสต์แนะรัฐ ต้องฟังเสียงม็อบนศ. ปฎิรูปด่วนลดปะทะ ขจัดกติกาไม่เป็นธรรม

“ศ.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ” อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560  โพสต์แนะรัฐ ต้องฟ้องม็อบเยาวชน  ขจัดกติกาไม่เป็นธรรม

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ศ.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตกรรมการในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก Chartchai Na Chiangmai แสดงความเห็นทางการเมือง ระบุว่า

ข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนปลดแอกต่อรัฐบาล 3 ข้อ 1) ให้ยุบสภา 2) หยุดคุกคามประชาชน และ 3) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ผมเห็นใจและเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ซึ่งก็เหมือนกับคนรุ่นผมเมื่อ 49 ปีที่แล้ว ที่ต้องการ “อนาคตที่ดีกว่า”

ความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังก่อตัวขึ้นใหม่ ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจโดยเฉพาะระหว่างกลุ่มอำมาตย์และนายทุนชาติกับกลุ่มคนชั้นกลางใหม่ กรรมกรและชาวนา ที่ต่อสู้กันต่อเนื่องมาร่วม 60 ปี แต่เป็นคู่ขัดแย้งใหม่ ระหว่างกลุ่มทุนการเมืองอนุรักษ์นิยม กับ กลุ่มทุนดิจิทัลเสรีนิยมกับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่

เวลาผ่านไปหลายสิบปี โลกและประเทศเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปมาก แต่สังคมและการเมืองไทยกำลังย้อนกลับมาที่จุดเดิมที่เป็นจุดสร้างความแตกแยก ความอ่อนแอของผู้คนและสังคม เป็นจุดที่สร้างบาดแผลความเจ็บช้ำเคียดแค้นในใจคนที่จะต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่นไปอีกนับสิบปี

นี่คือ วงจรอุบาทว์ที่เป็นธรรมชาติที่แท้จริงของการเมืองไทย หรือ?

แน่นอน การจะมีอนาคตใหม่ที่ดีกว่า ตามที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องการ ต้องทำการใหญ่อีกหลายเรื่องในแทบทุกด้านของชีวิตคนไทย

แต่ที่เร่งด่วนในนาทีนี้ คือ การปฏิรูปการเมือง เพื่อลดความตึงเครียด ขจัดโอกาสที่จะเกิดการปะทะทางความคิดและการใช้กำลัง

ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีจิตใหญ่ ใจกว้าง เชิญตัวแทนของทุกกลุ่มที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยเฉพาะกลุ่มวุฒิสมาชิก ให้เข้ามาร่วมกันคิด ร่วมกันผลักดันให้การปฏิรูปใน 4 เรื่องนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว

1.การแข่งขันทางการเมืองที่ไม่เสรีและเท่าเทียม (การสืบทอดอำนาจ)

ต้องมุ่งขจัดกติกาและกลไกที่ทำให้ไม่มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียมทางการเมือง

โดยเร่งแก้รัฐธรรมนูญในส่วนที่เป็นหน้าที่ของวุฒิสมาชิกในการออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี และแก้ไขเกณฑ์คะแนนเสียงเลือกตั้งที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้ สส. ในสภาผู้แทนราษฎร

2. การตรวจสอบการเข้าสู่อำนาจ และการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องและเป็นธรรม

ต้องมุ่งปรับให้มีกลไกที่เป็นกลางในการตรวจสอบการเข้าสู่อำนาจ การใช้อำนาจ และการออกจากตำแหน่งที่มีอำนาจ โดยเร่งแก้รัฐธรรมนูญในส่วนที่เป็นการปรับเปลี่ยนระบบการสรรหากรรมการองค์กรอิสระให้เปิดกว้างและโปร่งใสและ

ปรับระบบการตรวจสอบและรับผิดของกรรมการองค์กรอิสระให้มีกลไกการถ่วงดุลจากตัวแทนของประชาชน

3. ความเหลื่อมล้ำในโอกาสและความสามารถขยับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม

ต้องมุ่งขจัดระบบอภิสิทธิ์และกลไกที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับกลุ่มคนรุ่นใหม่

โดยเร่งสร้างความเป็นธรรมในสังคมให้มากขึ้นโดยปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมครบวงจรและ

เร่งปรับแก้กฎหมายที่สร้างภาระให้แก่ประชาชน ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ และที่ไม่เน้นการแข่งขันด้วยความสามารถในการได้มาซึ่งตำแหน่ง สถานะ เกียรติยศ เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการขยับสถานะทางเศรษฐกิจสังคมของตนให้ดีขึ้น

4. การมีระบบการเป็นตัวแทนทางการเมืองที่ดี

ต้องมีกลไกที่ควบคุมทำให้นักการเมืองในรัฐสภาต้องทำหน้าที่และพร้อมรับผิดได้จริง

โดยเร่งปรับแก้กฎหมายพรรคการเมืองและออกกฎหมายการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของประชาชนเพื่อให้มีกลไกและช่องทางที่ประชาชนจะใช้ในการตรวจสอบควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก ให้ง่าย สะดวก รวดเร็ว รู้เห็นกันทั่วไป