ครป. จัดเสวนา แนวทางแก้ รธน. ซัดผลงานโบว์แดงมีชัย แต่เป็นโบว์ดำ ปชช. โภคิน เชื่อ อดทนใช้เวลา 1 ปีครึ่ง แก้ได้

ภาพจาก เพจคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย | ครป.

ครป. จัดเสวนา แนวทางแก้รัฐธรรมนูญ ซัดรธน. ผลงานโบว์แดงมีชัย แต่เป็นโบว์ดำของปชช. โภคิน เชื่อ อดทนใช้เวลา 1 ปีครึ่ง แก้ได้

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จัดเสวนา “แนวทางแก้รัฐธรรมนูญ” ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษาคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 , นายสมชัย ศรีสุทธิยากร รองประธานคณะกมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 , นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานครป. , นายพริษฐ์ วัชรสินธุ กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์
นายเมธา มาสขาว เลขาธิการครป. กล่าวตอนหนึ่งว่า เบื้องต้นครป.ได้นำเสนอข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ 1.แก้ไขยึดหลักตามรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นพื้นฐาน ยกเลิกบทเฉพาะกาลที่สืบทอดทำอาจทั้งหมด ยกเลิกการโหวตนายกรัฐมนตรีร่วมกันของ ส.ส. และส.ว. 2.ใช้ระบบเลือกตั้งผสมผสาน ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนเดิม 3.ควรยกเลิก ส.ว.ไปเลย ควรให้ ส.ส.ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติทั้งหมด และควรปรับลดจำนวนส.ส.ลง 4.ควรกำหนดเงื่อนไขการปฏิรูปประเทศ และกรอบเวลาให้มีความชัดเจนโดยเร็ว 5.ต้องมีการกระจายอำนาจ ตามแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง ยกเลิกระบบราชการรวมศูนย์ เลือกตั้งผู้ว่าฯโดยตรง 6.ยกเลิกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ให้มีองค์กรที่อยู่เหนือรัฐบาลที่มาจากประชาชน 7.ปฏิรูปองค์กรอิสระ และยกเครื่องใหม่ทั้งหมด 8.ให้ปฏิรูปโครงสร้างกฎหมายภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า เหมือนหลายๆประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ยกเลิกเขตเศรษฐกิจพิเศษ สร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และ 9.ขยายสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง และสิทธิทางวัฒนธรรม มีส่วนร่วมตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น

นายพิชาย กล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งไม่ใช่ชิ้นโบว์แดงสำหรับประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้สามารถตอบสนองความต้องการของคสช.ได้อย่างเต็มที่ เรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นอัญมณีอันมีค่าที่ต้องหวงแหนไม่ปล่อยให้หลุดมือ จึงมีโครงสร้างที่ซับซ้อนในการทำให้อำนาจคสช. สืบทอดอย่างมีเสถียรภาพ ผ่านกลไกต่างๆ เช่น สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการการแต่งตั้งมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ส.ว.เป็นส่วนเกินอย่างชัดเจนของระบอบประชาธิปไตย ไม่มีประโยชน์อะไรยุบได้ก็ยุบ เพราะสิ้นเปลืองงบประมาณ นอกจากนี้ ยังมียุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งเชื่อมโยงกับองค์กรอิสระที่เป็นโครงข่ายทั้งหมด ทั้งกรอบคิด การได้มาซึ่งอำนาจ การรักษาอำนาจให้อยู่ได้ระยะยาว อย่างไรก็ตาม แม้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของคสช. แต่เป็นระเบิดเวลาของสังคม เพราะท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้สังคมแตกแยก ตอนนี้เราเห็นสัญญาณหลายอย่างที่จะทำให้สังคมระเบิดขึ้นอีกครั้ง เหตุเพราะรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นจุดรวมศูนย์อำนาจไว้ในกลุ่มอภิสิทธิ์ชนคณาธิปไตยกลุ่มหนึ่ง แต่กีดกันประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเป็นระบบ เป็นการเมืองที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งการเมืองแบบนี้กลายมาเป็นระเบิดเวลาที่รอคอยวันระเบิดออกมาเท่านั้น จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของเวลา
“ทุกคนเห็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าเลวร้ายที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ แต่คนที่อยู่ในอำนาจ คนที่เชียร์รัฐบาล ยังไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่เขาคิดว่าเป็นอัญมณีอันมีค่าแท้จริงเป็นระเบิดเวลา เราไม่เคยได้ยินพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม พูดว่าจะแก้รัฐธรรมนูญหรือออกมาบอกว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่เป็นธรรมสร้างปัญหา และ 3 ป.ที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่เคยคิดจะแก้ไข ยังบริหารประเทศแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาว” นายพิชาย กล่าว

นายพิชาย กล่าวอีกว่า ส่วนการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ต่างๆไม่ว่าจะเป็นคณะกมธ.วิสามัญรับฟังความเห็นนักศึกษา หรือคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นกลไกที่ชะลอเวลาเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับว่า 4 – 5 เดือนข้างหน้า กระแสสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นจริงหรือไม่ ถ้าไม่เกิดขึ้นระเบิดแน่ และจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้สังคมไทย ดังนั้น การถอดสลักระเบิดจึงเป็นทางเลือกที่ดี แต่ปัญหาคือถอดสลักยากมาก เพราะการแก้รัฐธรรมนูญมีความซับซ้อนอย่างมาก ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะถอดสลักนี้ ตรงนี้จะทำให้ไม่ทันเวลาที่จะปลดชนวนระเบิดนี้ออก หากไม่เกิดความตระหนักร่วมแรงร่วมใจกันถอดสลัดระเบิดลูกนี้ออกมา ทั้งนี้ การถอดสลักต้องเริ่มทำแบบคู่ขนานทั้งระยะสั้น และระยะยาว ระยะสั้นคือการแก้ไขในประเด็นที่แก้ได้ก่อน คือแก้ไขบทเฉพาะกาลที่ให้มีการเลือกนายกฯในรัฐสภาก็จบ แต่ที่ไม่ง่ายเพราะประเด็นนี้คือหัวใจของคสช.ในการให้ส.ว.เลือกนายกฯ หากแกนนำ 3 ป. ยังไม่ตระหนักว่าตัวเองกุมระเบิดเวลาตรงนี้อยู่ก็จะแก้ไขไม่ง่าย ส่วนระยาวคือแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่คู่ขนานกันไป

ด้าน นายโภคิน กล่าวว่า ปัจจุบันคนเริ่มรับไม่ได้กับฝ่ายอำนาจนิยม ซึ่งทางออกมีทางเดียวคือมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่เขียนโดยประชาชน ทั้งนี้ ตนได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในกมธ. ตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด – 19 ระบาด แต่กมธ.หลายคนยังไม่เอา เพราะเห็นว่าจะต้องทำประชามติหลายรอบ แต่ตนเชื่อว่าประชาชนจะเห็นด้วยที่จะเสียเงินทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ภายในอาทิตย์หน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะหารือร่วมกัน และจะขอให้พรรคร่วมรัฐบาลร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 เดือน โดยทำประชามติ 3 เดือน และกระบวนการในสภาฯ 2 เดือน จากนั้นการแก้รัฐธรรมนูญจะสามารถทำได้ตามปกติทำได้ง่าย ซึ่งเราเสนอให้มี สสร.มาจาการเลือกตั้ง 200 คน โดยใช้เวลาร่างประมาณ 390 วัน แม้หลายคนจะมองว่านานเกินไป แต่ตนมองว่าเราต้องทำให้ดี จะทำง่ายๆไม่ได้ ซึ่งจะต้องอดทนประมาณ 1 ปี 6 เดือน

ด้าน นายราเมศ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ชูธงแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 มาตั้งแต่ต้น เพราะเห็นมาตั้งแต่ต้นแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญที่เราคิดว่าดีที่สุดคือรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งตนเห็นด้วยกับการเอารัฐธรรมนูญปี 40 มาเป็นหลักในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญปี 60 มีการตัดสิทธิประชาชนออกไปหลายเรื่อง การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ควรนำเอาเรื่องสิทธิประชาชนต่างๆ กลับมา โดยเฉพาะสิทธิในกระบวนการยุติธรรม หากในรับธรรมนูญปี 60 มีเรื่องนี้ ก็จะไม่เกิดปัญหาการไม่ฟ้องคดีบอส วรยุทธ อยู่วิทยา อย่างในปัจจุบัน รวมทั้งการเลือกตั้งตนเห็นด้วยในการกลับไปใช้การเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ รวมทั้งระบบการถ่วงดุลการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระที่ยังมีปัญหา ส่วนการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาตินั้น ตนเห็นด้วย เพราะยุทธศาสตร์ชาติควรปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ และในเรื่อง ส.ว. 250 คน ที่มาโดยไม่ยึดโยงประชาชน แต่มีสิทธิเลือกนายกฯ ตนก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน และคิดว่า ส.ว.เองก็ต้องยอมสละอำนาจนี้ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป้นประชาธิปไตยมากขึ้น

ส่วน นายพริษฐ์ กล่าวว่า ลำดับข้อเสนอของนักศึกษา ควรเริ่มที่การแก้รัฐธรรมนูญก่อน เพราะหากยุบสภาฯก่อน จะทำให้ปัญหาวนกลับมาเหมือนเดิม โดยเนื้อหาในการร่างรัฐธรรมนูญความจะเป็นกลางและเป็นธรรม คำนึงถึงหลักประชาธิปไตย และควรออกแบบให้รัฐมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยทางกลุ่มมีข้อเสนอ 10 ข้อ คือ 1.ยกเลิกมีรัฐธรรมนูญที่แก้ไม่ได้ โดยยกเลิกมาตรา 256 ที่เป็นกำแพงในการแก้รับธรรมนูญ 2.ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ละเอียดเกินไป โดยเฉพาะเรื่องแนวนโยบายแห่งรัฐที่ถูกใส่ในรัฐธรรมนูญ หรือการปฏิรูปประเทศนั้น ไม่จำเป็นต้นมีในรัฐธรรมนูญ 3.ยกเลิกการอ้างความมั่นคง ในเงื่อนไขที่รัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนในกรณีกระทบกับความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ดังนั้น ควรยกเลิกมาตรา 25 ที่จำกัดสิทธิประชาชน 4.ยกเลิกการเลือกตั้งที่งง กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ 5.ยกเลิก ส.ว. ตามหลักอำนาจและที่มาที่ต้องสอดคล้องกัน หากมีอำนาจเยอะ ก็ควรมาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากการแต่งตั้งก็ควรลดอำนาจลงเหมือนอังกฤษ หรืออีกทางออกคือมีสภาเดี่ยวแค่ ส.ส. 6.ยกระดับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งบรรจุสิทธิและเสรีภาพใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น 7.ยกระดับนายกฯ ควรกำหนดให้เป็น ส.ส.ด้วย 8.ยกระดับองค์กรอิสระ กรรมการองค์กรอิสระควรมีการยึดโยงกับประชาชนและมีความเป็นกลางทางการเมือง โดยให้ ส.ส.เป็นคนแต่งตั้ง และต้องได้รับเสียงข้างมากจากทั้ง ส.สฝ่ายค้าน และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 9.ยกระดับความเป็นประชาธิปไตยโดยตรง ประชาชนควรมีสิทธิถอดถอนผู้ดำรวชงตำแหน่งทางการเมืองได้ เหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 และ 10. การยกระดับท้องถิ่น ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค โอนอำนาจผู้ว่าให้นายกฯอบจ. หรือให้ผู้ว่ามาจากการเลือกตั้ง

ด้าน นายสมชัย กล่าวตอนหนึ่งว่า กมธ.คุยกันหลายเรื่องในเนื้อหาการแก้รัฐธรรมนูญ โดยจากากรที่ตนทำแบบสำรวจพบว่าความต้องการของประชาชนในการแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่ต้องการให้ยกเลิก ส.ว. รองลงมาให้แก้เรื่องให้อำนาจ ส.ว. เลือก นายกฯ นอกจากนั้นคือให้ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ เปลี่ยนบัตรเลือกตั้งให้เป็นแบบ 2 ใบ และยกเลิกความชอบธรรมของคำสั่ง คสช. รวมทั้งให้แก้การได้มาซึ่งองค์กรอิสระ และการกระจายอำนาจท้องถิ่น ทั้งนี้มองว่าความคิดของประชาชนไปไกลกว่านักการเมือง พรรคการเมือง หรือกรรมาธิการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะข้อเสนอของพรรคการเมืองฝ่ายการเมืองยังล้าหลัง ส่วนระยะเวลาในการแก้ไข จากการสำรวจของตนพบว่าประชาชนบอกว่าควรใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่ทนกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เขาไม่ทนที่จะรอเป็นปีเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วค่อยมาเลือกตั้งกันใหม่ ทั้งนี้ใน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ เมื่อวานมีข้อสรุปที่เป็นที่ยุติซึ่งทุกฝ่ายเห็นด้วยคือแก้มาตรา 256 ให้อ่อนตัว และให้ สสร.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และทำหน้าที่ต่อแม้จะมีการยุบสภาฯ แต่ไม่อยากให้รอรายงานของกมธ.เข้าสู่สภาฯ ดังนั้นเขาจะใช้ช่องทางเสนอญัตติให้มีการแก้ไขทันที โดยใช้เสียง ส.ส. 100 คน