“เผ่าภูมิ”เสนอ4ข้อ“นโยบายการเงินในภาวะวิกฤติ”หลังตั้งผู้ว่าแบงค์ชาติคนใหม่ เปรียบชูชีพอย่ากองไว้ต้องถึงมือคนจมน้ำ

“เผ่าภูมิ” เปิด 4 ข้อ “นโยบายการเงินในภาวะวิกฤติ” เปรียบชูชีพอย่ากองไว้ ต้องถึงมือคนจมน้ำ

1 ส.ค. 63ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายการเงินในภาวะวิกฤติจากโควิด-19 ในวาระที่มีคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งผู้ว่าแบงค์ชาติคนใหม่ โดยมีข้อเสนอ 4 ข้อ ดังนี้

1. “สินเชื่อลงสู่มือประชาชน สำคัญกว่าตัวเลขกรอบวงเงิน” ประชาชนมักได้รับคำกล่าวที่ว่าสภาพคล่องและปริมาณเงินในระบบของไทยนั้นล้นเหลือ แต่ในขณะเดียวกันกลับรู้สึกว่าตนไม่เคยเข้าถึงสภาพคล่องเหล่านั้นเลยเมื่อมีปัญหา ปัญหาในไทยไม่ใช่จำนวนเงินในระบบ แต่หากเป็นกลไกที่จะผลักเงินนั้นกระจายถึงมือประชาชนจริง ในวิกฤติโควิด สภาพคล่องเสมือนชูชีพสำหรับคนจมน้ำ ซึ่งตอนนี้คนจมน้ำเกลื่อน ชูชีพมีล้นเหลือ แต่โยนไม่ถึงมือคนจมน้ำ Soft Loan ผ่านธนาคารพาณิชย์ 500,000 ล้านบาท ถูกใช้จริงไม่ถึงครึ่ง และ Soft Loan ผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐอีก 466,000 ล้านบาท ถูกใช้จริงไม่ถึงครึ่งเช่นกัน ทั้งๆที่ผู้คนต่างโหยหาสินเชื่อ เรื่องนี้ต้องแก้ที่กลไก ไม่ใช่เพิ่มกรอบวงเงิน

2. “นโยบายการเงินที่หนุนเศรษฐกิจ สำคัญกว่าแค่มิติเสถียรภาพ” โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติ เสถียรภาพของตลาดเงินนั้นสำคัญก็จริง แต่ที่ผ่านมาเน้นเสถียรภาพมากจนสถาบันการเงินมีเงินกองทุนสูงลิบ แต่กลับไม่ใช้ประโยชน์เพื่อหนุนเศรษฐกิจเท่าที่ควร โควิดเกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจจริง ในขณะที่ภาคการเงินยังเข้มแข็ง เหตุใดเล่าภาคการเงินไม่ยกระดับการกอบกู้วิกฤติครั้งนี้ หนี้เสียจะแค่ลดกำไรของธนาคารพาณิชย์ แต่ไม่กระทบถึงขั้นเสถียรภาพ แต่หากเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมาก ใช้หลักเกณฑ์เสมือนไม่มีวิกฤติ ธุรกิจจะขาดสภาพคล่อง ปิดกิจการ ตกงานกันเป็นโดมิโน ซึ่งตรงนี้อันตรายกว่ากันมาก

3. “กรอบอัตราแลกเปลี่ยน สำคัญกว่ากรอบเงินเฟ้อ” อย่างน้อยในภาวะวิกฤติ เงินบาทที่อ่อนในจังหวะที่เหมาะสม เป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งการฟื้นตัวผ่านการส่งออก ประเทศที่ค่าเงินแข่งขันได้ในช่วงที่ตลาดส่งออกเริ่มขยับช่วงแรกๆ จะฟื้นตัวเร็วและฉกชิงตลาดที่กำลังฝุ่นตลบได้ก่อน กรอบเรื่องเงินเฟ้อสำคัญน้อยกว่าความสามารถฟื้นเศรษฐกิจมากในตอนนี้

4. “เปิดใจรับนโยบายการเงินแบบนอกตำรา” เงินเฟ้อที่จะต่ำยาวนานและไม่มีทีท่าจะผงกหัวขึ้น และความต้องการให้บาทอ่อน เปิดช่องให้ฉีกตำราการใช้นโยบายการเงินแบบเดิมๆได้ การเปิดใจรับกับการใช้นโยบายการเงินแบบ Unconventional ในระยะสั้นสามารถทำได้ เพราะปัจจุบันยังไม่ต้องพะวงภาวะเงินเฟ้อ และได้บาทอ่อน ได้เงินลงสู่ระบบดังหวัง อาจจะเป็นคำตอบในภาวะที่นโยบายการเงินแบบเดิมเริ่มถึงทางตัน