หมอฟันยันไม่เคยใช้ “โคเคน” รักษา “บอส” งง! ข้อมูลตำรวจมายังไง

หมอฟันยันไม่เคยใช้ “โคเคน” รักษา “บอส” งง! ข้อมูลตำรวจมายังไง

กรณีมีการตรวจพบสารโคเคนในเลือดของ นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ผู้ต้องหาขับรถหรูชนตำรวจเสียชีวิต ซึ่งต่อมาตำรวจให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ว่าไม่สามารถดำเนินคดียาเสพติดกับนายวรยุทธได้ เนื่องจากได้รับการยืนยันจากทันตแพทย์ของนายวรยุทธว่าสารโคเคนที่ตรวจพบในเลือดของนายวรยุทธสืบเนื่องจากการรักษาฟัน โดยประเด็นนี้กำลังกลายเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจนั้น

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทพ.เผด็จ ตั้งงามสกุล กรรมการทันตแพทยสภา กล่าวว่า ขณะนี้ทันตแพทย์คนที่รักษา “บอส อยู่วิทยา” นั้น ได้ติดต่อมาเป็นการส่วนตัวกับทางกรรมการทันตแพทยสภาท่านหนึ่ง ซึ่งเขายืนยันว่า ไม่ได้มีการใช้โคเคนในการรักษาฟันแต่อย่างใด เพราะคลินิกทันตกรรม หรือในวงการทันตกรรมไม่มีการใช้สารโคเคนอยู่แล้ว เพราะเป็นยาเสพติด จะมีการใช้เพียงยาชาที่อนุญาตทางทันตกรรมเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเชิญทันตแพทย์รายดังกล่าวมาที่ทันตแพทยสภาหรือไม่ ทพ.เผด็จ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอให้เขาพร้อม และเตรียมข้อมูลการรักษา เนื่องจากผ่านมา 7 ปีกว่า แต่ที่เขาจำได้คือ เขายืนยันว่าไม่ได้ใช้โคเคน ซึ่งเขาก็สงสัยว่า เพราะเหตุใดจึงมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่สอบสวนระบุว่ามีการใช้สารโคเคน อย่างไรก็ตาม ทันตแพทยสภาขอรอเวลาสักระยะ เพื่อติดต่อและประสานในการให้ข้อมูล เนื่องจากปัจจุบันก็ยังมีคณะกรรมการอีกชุด ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ดังนั้น คงต้องมีหลายฝ่ายอยู่ในการดำเนินการเรื่องนี้ แต่ขอยืนยันว่า ไม่มีการใช้โคเคนในวงการทันตกรรมแน่นอน

ด้านการเรียกสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากคลินิกทันตกรรม ที่เป็นผู้ให้บริการในครั้งนั้น ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การใช้โคเคนเพื่อทันตกรรม ในกรณีตนได้หารือกับ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี สบส. และมีความเห็นว่า ระหว่างนี้ ทาง สบส.จะข้อรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคลินิกผู้ให้บริการรายดังกล่าวให้ครบถ้วนก่อน และจะนำแถลงข่าวเพื่อให้ประชาชนรับทราบทั่วกัน

ทั้งนี้ ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย สธ.กล่าวว่า การใช้โคเคนในทางทันตกรรมมีการใช้ในอดีตเป็น 100 กว่าปี เพราะขณะนั้นไม่มียาชา แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้า และพัฒนาไปไกลมาก จึงไม่มีการนำสารโคเคน ที่ถูกระบุว่าเป็นสารเสพติด เข้ามาใช้เกี่ยวกับทางทันตกรรม ปัจจุบันที่ใช้กันในทางทันตกรรมเพื่อเป็นยาชา จะเรียกว่า ลิโดเคน (Lidocaine) โดยปริมาณการใชน้อยมาก ตัวยาออกฤทธิ์และหายไปในเวลาไม่นาน ประมาณ 6 ชั่วโมงเท่านั้น