ส.ส.นิโรธ ประธานกมธ.ตำรวจ มองคดีบอสไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม พร้อมตั้งข้อสังเกตพนักงานสอบสวน

ส.ส.นิโรธ นครสวรรค์ พปชร. ในฐานะประธานกมธ.การตำรวจ เผยที่ประชุมมองคดี บอส อยู่วิทยา ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรมกับสังคม หลังพบรายละเอียดของคดีบกพร่อง

นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส. นครสวรรค์ เขต 6 พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายสัญญา นิลสุพรรณ ส.ส. นครสวรรค์ เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ พันตำรวจโทฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส. จันทบุรี เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองกมธ.ฯ และพลตำรวจเอกยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะที่ปรึกษากมธ.ฯ เข้าร่วมประชุมกมธ.การตำรวจ โดยมีวาระการประชุมเพื่อพิจารณาขั้นตอนการดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีที่นายวราวุธ อยู่วิทยา หรือ บอส ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

จากนั้น เมื่อเสร็จสิ้นการประชุม นายนิโรธ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า กมธ.การตำรวจ ได้ซักถามเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีเมาแล้วขับ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพนักงานสอบสวนได้สอบสวน ระบุว่า ไม่สามารถตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ได้ในขณะที่เกิดเหตุ ดังนั้นการตรวจวัดแอลกอฮอล์จึงล่าช้า เนื่องจากว่าผู้ต้องหาขับรถหนีไปยังบ้าน และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังไปล้อมบ้านไว้แล้ว แต่ยังไม่มีหมายจับ และผู้ต้องหาไม่ยอมออกมามอบตัว ต่อมาเช้าวันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอหมายศาลและเข้าตรวจค้นบ้านของผู้ต้องหาอีกครั้ง เพื่อนำผู้ต้องหามาตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ แต่ระยะเวลาการตรวจวัดแอลกอฮอล์กับช่วงเวลาที่เกิดห่างกันถึง 10 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน มีประเด็นข้อกฎหมายมีอยู่ว่า ต้องตรวจวัดแอลกอฮอลในขณะที่เกิดเหตุ จึงสามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลและสั่งฟ้องได้

นายนิโรธ กล่าวว่า ส่วนประเด็นความเร็วรถนั้น ทางสำนักงานจราจร ได้ใช้หลักวิชาฟิสิกส์การประทะของวัตถุ เพื่อตรวจสอบความเร็วของรถทั้ง 2 คัน พบว่า ความเร็วรถประมาณเฉลี่ยจะประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่หน่วยงานกองพิสูจน์หลักฐาน และคณะอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้หลักวิศวะคำนวณจากกล้องวงจรปิด คำนวนความเร็ว พบว่า ความเร็วรถเฉลี่ยจะประมาณ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้ มหาวิทยาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ใช้หลักวิศวะคำนวณจากกล้องวงจรปิดคำนวนความเร็ว และหักลบเลนซ์กลมโค้งจากกล้องวงจรปิด พบว่า ความเร็วรถเฉลี่ย 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

“เนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งอัยการและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้นจึงเชิญกองพิสูจน์หลักฐานและคณะอาจารย์จากจุฬาฯ มาให้ปากคำเพื่อสอบสวนอีกครั้ง
ต่อมายอมว่าอาจจะคำนวนผิดพลาด เพราะไม่ได้หักลบเลนซ์กลมโค้งจากกล้องวงจรปิดด้วย” นายนิโรธ กล่าว

นายนิโรธ กล่าวต่อว่า อัยการมีความเห็นว่าควรหาประจักษ์พยานบุคคล จึงสั่งสอบเพิ่มเติม 2 คน คือ นายจารุชาติ มาดทอง ซึ่งเป็นพยานที่อยู่ในสำนวน และระบุว่า ไม่ได้มีการขับรถเร็ว ต่อมาผู้เสียหายได้เรียกร้องให้พนักงานสอบสวนให้สอบสวนพยานเพิ่มเติมเพื่อขอความเป็นธรรม คือ พลอากาศโท จักกฤช ถนอมกุลบุตร แต่ไม่ได้สอบสวนพยานเพิ่ม เนื่องจากสำนวนเสร็จสิ้นและส่งฟ้องอัยการแล้ว หากต้องการสอบสวนเพิ่มต้องร้องขอความเป็นธรรม เพื่อให้พนักงานสอบสวนสอบพยายานเพิ่มเติม และต้องกำหนดประเด็นตามอัยการระบุไว้

นายนิโรธ กล่าวด้วยว่า กมธ.การตำรวจ มองว่า คดีนี้ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรมกับสังคม ดังนั้นกมธ.การตำรวจจึงตั้งข้อสังเกตกับพนักงานสอบสวนว่า ควรตรวจสอบรายละเอียดที่ยังขาดตกบกพร่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับความกระจ่าง ซึ่งสอดคล้องนายกรัฐมนตรี ที่สั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบในคดีนี้ อีกทั้งยังมองว่า ในเรื่องอายุความที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้ง 5 ข้อหานั้น มีอายุความที่แตกต่างกัน และยังไม่สามารถนำตัวผู้เสียหายที่หลบหนีไปยังต่างประเทศมาฟ้องตามข้อหาได้ จึงหมดอายุความไป ซึ่งนี่จึงเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย