“จาตุรนต์” ชี้คดี “บอส อยู่วิทยา” สะท้อน คสช.ปฏิรูปยุติธรรมลวง ถูกแทรกแซงจนพิกลพิการ

เมื่อวานนี้ (29 กรกฎาคม 2563) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติได้แสดงความคิดเห็นต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อกระบวนการยุติธรรมหลังจาก อัยการเลิกฟ้อง “วรยุทธ อยู่วิทยา” ทายาทเจ้าของเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดังที่ขับรถสปอร์ตชนตำรวจจนเสียชีวิตว่า คดีบอส-กระทิงแดงเป็นคดีอื้อฉาวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนทั้งประเทศและเป็นที่น่าอับอายไปทั่วโลก
การดำเนินคดีนี้มีพิรุธหลายขั้นตอนตั้งแต่การที่ตำรวจเอาผู้ต้องหาตัวปลอมมามอบตัว การไม่ตั้งข้อหาเสพแล้วขับ การปล่อยให้หลายข้อหาหมดอายุความ การให้ตำรวจที่ถูกชนตายกลายเป็นผู้กระทำผิดร่วมและการอาศัยคณะกมธ.ของสนช.มาช่วยดึงเกมทั้งๆที่ไม่มีอำนาจ เป็นต้น
กำลังมีการตรวจสอบโดยหลายฝ่ายและหากพบว่าการดำเนินคดีในชั้นตำรวจและอัยการเป็นไปโดยไม่สุจริต ก็อาจมีการดำเนินคดีกันใหม่ได้ ที่ยากก็คือบางข้อหาหมดอายุความไปแล้ว แต่ถ้าต้องการทำให้เกิดความถูกต้องจริงๆจะออกกฎหมายให้คดีที่หมดอายุความไปโดยการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าพนักงาน สามารถนำกลับมาพิจารณาใหม่ก็ทำได้
นอกจากดำเนินคดีใหม่แล้ว ผู้ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กระทำการอันไม่สุจริตทั้งหลายก็อาจถูกลงโทษต่อไปด้วย ปัญหาที่ยังน่าเป็นห่วงก็คือการช่วยเหลือผู้ต้องหาโดยไม่สุจริตครั้งนี้มีคนระดับสูงถึงสูงมากเกี่ยวข้องด้วย การสืบหาผู้กระทำผิดจะทำได้มากน้อยเพียงใด
การทำให้ความจริงปรากฏและความถูกต้องบังเกิดขึ้นในคดีบอส-กระทิงแดงนั้นเป็นสิ่งจำเป็น มิฉะนั้นระบบยุติธรรมก็จะไม่เหลือความน่าเชื่อถืออีกต่อไป
แต่ปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่มิชอบของตำรวจและอัยการไม่ได้มีแต่คดีนี้คดีเดียว
ใน 5-6 ปีมานี้ มีการตั้งข้อหาและสั่งฟ้องคดี หลายร้อยคดีคดีทั้งๆที่พยานหลักฐานไม่เพียงพอ เป็นการตั้งข้อหาและฟ้องเกินกว่าเหตุที่ทำกันไปตามที่คสช.หรือผู้มีอำนาจสั่งมา ในขณะที่มีการช่วยเหลือผู้กระทำผิดให้รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีไปไม่น้อย แต่เนื่องจากไม่มีใครตรวจสอบได้จึงไม่เป็นที่รับรู้กัน
สาเหตุที่เกิดการเลือกปฏิบัติและความไม่เป็นธรรมอยู่มากมายในการดำเนินคดีจนมีการพูดกันว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” ก็เนื่องมาจากกระบวนการยุติธรรมนี้เป็นระบบปิดที่ประชาชนตรวจสอบไม่ได้ การปฏิรูประบบยุติธรรมที่มีการหยิบยกขึ้นมาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารไม่ได้เกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด
การปฏิรูปตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศที่ถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อขัดขวางการเลือกตั้งและสนับสนุนให้มีการรัฐประหาร หลังยึดอำนาจได้แล้ว คสช.ก็ตั้งสภาปฏิรูปขึ้น ต่อมามีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ แต่ขณะนี้ผ่านมา 6 ปีกว่าแล้วยังไม่ปรากฏว่ามีการปฏิรูปในด้านใดๆเกิดขึ้นเลย
การปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องที่กปปส.เน้นหนักเน้นหนาว่าจะต้องทำให้ได้ แต่หลังยึดอำนาจแล้วคสช.ก็ใช้อำนาจของตนเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงพรบ.ตำรวจและให้มีคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจขึ้น ผลที่ออกมา แทนที่จะเป็นการปฏิรูประบบตำรวจ กลายเป็นการที่คสช.เข้าแทรกแซงการทำงานของตำรวจและทำให้ระบบของตำรวจล้าหลังยิ่งกว่าเดิม
ส่วนระบบของอัยการนั้น เดิมองค์กรอัยการขึ้นกับฝ่ายบริหารที่สามารถตรวจสอบได้โดยสภาซึ่งความจริงก็เป็นระบบที่เป็นสากล ต่อมาหลังจากการรัฐประหารในปี 2549 ก็มีการบัญญัติให้องค์กรอัยการมีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและสภา ทำให้ระบบอัยการเป็นระบบที่ประชาชนตรวจสอบไม่ได้ แต่หลังการรัฐประหารปี 57 เป็นต้นมา องค์กรอัยการก็กลับไม่ได้เป็นอิสระจริงเพราะคสช. เข้ามาแทรกแซงด้วยการปลดและตั้งอัยการสูงสุดมาแล้ว ทำให้เกิดวัฒนธรรมที่อัยการไม่กลัวการตรวจสอบของสังคมและประชาชน แต่กลัวการให้คุณให้โทษของคสช.ในการแต่งตั้งโยกย้ายอัยการ
ระบบยุติธรรมต้องอยู่ในสภาพพิกลพิการ เพราะนอกจากไม่มีการปฏิรูปแล้ว ยังถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจที่มาจากการรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง หากจะให้เกิดระบบที่ยุติธรรมจริงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบทั้งของตำรวจและอัยการ ในการจะปฏิรูปนี้ทำได้ทั้งโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดระบบที่โปร่งใสตรวจสอบได้และให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน
แต่การจะปฏิรูปอย่างนี้ให้คณะปฏิรูปที่คสช.ตั้งไว้หรือแม้แต่รัฐสภาปัจจุบันก็ไม่สามารถจะทำให้สำเร็จได้เพราะระบบที่ครอบงำโดยผู้ที่มาจากการทำรัฐประหารนั้นย่อมไม่สามารถทำให้เกิดผลที่มีความก้าวหน้าเป็นประชาธิปไตยหรือเกิดความยุติธรรมได้
ต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ต้องมีรัฐบาลใหม่รัฐสภาใหม่ที่มาจากประชาชนจริงๆจึงปฏิรูปสิ่งเหล่านี้ได้ แล้วจึงจะทำให้ประชาชนอยู่อย่างเท่าเทียมกันในการบังคับใช้กฎหมายได้