“ก้าวไกล” แถลงอยู่เคียงข้างประชาชน ดันร่างแก้ไขรธน. “ปิดสวิตช์ ส.ว.-ลบล้างผลพวงรปห.-เปิดทางมี สสร.”

วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 เมื่อเวลา 09.00 น.ที่ห้องประชุมพรรคก้าวไกล รัฐสภา (เกียกกาย) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล ร่วมประชุมก่อนมีมติ เสนอทางออกให้แก่สังคมเพื่อฝ่าวิกฤตการณ์ของประเทศ โดยเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1.เปิดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.)ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนโดยไม่กำหนดวุฒิการศึกษาและมีอายุ18 ปีขึ้นไป 2.ให้มีการยกเลิกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 – 278 ซึ่งเป็นเรื่องที่มาและอำนาจของ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล 5 ปีและ 3.ยกเลิกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 279 เรื่องการรับรองให้บรรดาประกาศ คำสั่ง คสช. และคำสั่งของหัวหน้า คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จากนั้นเวลา 11.00 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.เขต 1 พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อม ส.ส.ของพรรค ร่วมแถลงข่าว ถึงข้อเสนอดังกล่าว

นายพิธา กล่าวว่า ลำดับแรกตนอยากขอย้ำสิ่งที่เคยอภิปรายไว้ 5 ข้อในสภาผู้แทนราษฎร คือ 1. ยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2. ทบทวนคดีความทางการเมืองที่ผ่านมา 3. เลิกคุกคามนักศึกษาและผู้ชุมนุม 4.นายกรัฐมนตรีต้องลาออก และ 5. แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่กำหนดคุณสมบัติการศึกษา กำหนดเพียงให้อายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งนอกจาก 5 ข้อแรกที่จะเป็นบันไดในการแก้ไขวิกฤติการเมืองนี้แล้ว พรรคก้าวไกลอยากจะเสนอเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นใบอนุญาตต่ออายุให้ พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเราเสนอให้ยกเลิก 5 มาตราในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับ 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือปิดสวิตช์ ส.ว. โดยยกเลิกมาตรา 269 ถึง 272 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นหลักเกณฑ์วิธีสรรหา ส.ว. ชุดแรกจาก คสช. ตลอดจนอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และการให้ ส.ว. เข้ามาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี อีกเรื่องที่ต้องยกเลิกคือมาตรา 279 ซึ่งรับรองประกาศและคำสั่งของ คสช. ให้ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ การยกเลิกมาตรานี้จะเป็นการลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร

นายชัยธวัช กล่าวว่า ลำดับถัดไปเราจะจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านและ ส.ส. ฝั่งรัฐบาลที่เห็นด้วย ทั้งนี้ถ้า ส.ส.ฝั่งรัฐบาลและ ส.ว. มีความจริงจังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เชื่อว่าจะสามารถยื่นเข้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาในสมัยประชุมนี้ โดย ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลไม่ใช่เพื่อต่ออายุและยืดอายุให้รัฐบาล ทั้งนี้หากนายกรัฐมนตรีลาออก หรือยุบสภาเราก็จะสามารถเลือกตั้งใหม่ได้ภายหลังจากที่มีการปิดสวิสต์ ส.ว.อย่างเป็นทางการแล้ว โดยหากสามารถยกเลิก 5 มาตรานี้ได้ จะสามารถนำไปสู่การได้รัฐบาลที่มาจากเจตจำนงของประชาชนที่แท้จริง โดย ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.จะไม่สามารถเข้ามาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้

ด้าน นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ถ้าเราจะหาฉันทามติท่ามกลางความขัดแย้งแบบนี้ จะไม่มีทางทำได้ถ้าเราไม่คุยกันเรื่องของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมาจากประชาชน โดยจำเป็นที่ต้องมี สสร. ที่สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง รวบรวมทุกฝ่าย ทุกความใฝ่ฝัน ทุกปัญหา ทุกความขัดแย้ง แล้วมาคุยกันเพื่อสร้างฉันทามติของประชาชน ในนามของรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน โดยทาง กมธ.พัฒนาการเมืองฯ จะเริ่มต้น ศึกษา และข้อเสนอของภาคส่วนต่างๆมีพร้อมแล้ว โดยจะมีการสรุปข้อคิดเห็นของทุกฝ่ายและเสนอต่อสภาในเร็วๆนี้ รวมทั้งเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ จำเป็นต้องจัดทำประชามติ แต่การจัดทำประชามติในปี 2559 มีปัญหามาก มีการดำเนินการกับผู้ที่เห็นต่าง โดยมีการตีความที่ได้เปรียบเสียเปรียบอย่างชัดเจน ดังนั้น จำเป็นต้องมีแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 ด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้การรณรงค์ และบรรยากาศเป็นไปด้วยความปลอดภัยและมีเสรีภาพในการแสดงออก และเป็นความเห็นของประชาชนทุกฝ่ายจริงๆ