นายกฯสั่งตั้ง วิชา มหาคุณ นำทีมสอบข้อเท็จจริง ปมสั่งไม่ฟ้อง ‘บอส อยู่วิทยา’

“บิ๊กตู่”นั่งไม่ติด ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีบอส กระทิงแดง ที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิต เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และรายงานผลภายใน 30 วัน เนื่องจากอยู่ในความสนใจของประชาชน

เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) ซึ่งเลื่อนมาจากวันอังคารที่. 28 ก.ค. โดยวันเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 225/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอญาที่อยู่ในความสนใจของประขาชน

โดยเนื้อหาในคำสั่ง ระบุว่า ตามที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตเหตุเกิดในกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหาหลายข้อหาและผู้ต้องหาหลบหนีการดำเนินคดี ต่อมา คดีบางข้อหาได้ขาดอายุความ ในส่วนข้อหารถขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องและฝ่ายตำรวจไม่มีความเห็นแย้ง คำสั่งไม่ฟ้องจึงมีผลเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีวิธีพิจารณาความอาญา แต่ไม่ตัดสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งรวมถึงบุพการีบุตรและคู่สมรสที่จะฟ้องคดีเองและขอทราบสรุปพยานหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นในการสั่งคดี หรืออาจขอดำเนินคดีใหม่เมื่อได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีหรือขอความเป็นธรรมและความช่วยเหลือจากรัฐ

โดยที่คดีนี้ อยู่ในความรับรู้และสนใจของประชาชนต่อเนื่องมาโดยตลอดนับแต่เกิดเหตุเมื่อพศ 2555 เมื่อปรากฏผลการสั่งคดีอันเป็นขั้นตอนในกระบวนการที่ทำชั้นต้นก่อนมีคำพิพากษาของศาลเช่นนี้ จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางสื่อและสังคมทั่วไปอย่างกว้างขวาง ถือเป็นความอ่อนไหวกระทบกระเทือนความเชื่อมั่นในองค์กร เจ้าหน้าที่ และกระบวนการที่ทำ แม้ในส่วนของการใช้ดุลพินิจและการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการย่อมมีอิสระในการสั่งคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร และแม้พนักงานสอบสวนจะอยู่ในการตรวจสอบตามกฎหมายและระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่กรณีนี้มีเหตุพิเศษที่สังคมควรมีโอกาสทราบในส่วนของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตลอดจนพฤติการณ์และบุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งหากมีส่วนใดที่ควรปรับปรุงแก้ไขให้การบังคับใช้กฎหมายและการพัฒนากระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ จะได้นำมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปโดยเร่งด่วนต่อไป

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ เป็นประธานกรรมการ ขณะที่กรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรม, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, ประธานคณะกรรมการกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกฎหมาย, ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม, นายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย, คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และผู้อำนวยการสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ เเละการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เป็นกรรมการและเลขานุการ ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการได้จำนวนไม่เกิน 5 คน

คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคดีดังกล่าว และเสนอแนะแนวทางเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาองค์ความรู้ การปฏิบัติหน้าที่ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนเสนอข้อเสนอแนะนำอื่นใด โดยไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในคดีดังกล่าว แล้วรายงานนายกรัฐมนตรีให้ทราบภายใน 30 วันนับตั้งแต่คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ แต่หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าข้อเสนอแนะในการปฏิรูปยังไม่แล้วเสร็จ ให้ขยายเวลาได้อีก ทั้งนี้ให้กรรมการฯรายงานเบื้องต้นต่อนายมนตรีเป็นระยะ ทุก 10 วัน และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการดังกล่าว คณะกรรมการมีอำนาจเชิญหรือประสานขอความร่วมมือขอเอกสารต่างๆ จากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบ สอบถาม หรือขอความเห็น อีกทั้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการ

นอกจากนี้ คณะกรรมการอาจรับฟังความเห็นข้อเสนอแนะและพิจารณาเรื่องร้องเรียนในคดีนี้จากประชาชนได้ ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563 เป็นต้นไป