นักอาชญาวิทยา ให้ความเห็นคดีกระบวนการยุติธรรม สั่งไม่ฟ้อง”บอส อยู่วิทยา”สะท้อน ระบบอุปถัมภ์ในไทย

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา และการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต เปิดเผยถึงกรณีที่สังคมกำลังให้ความสนใจในคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทเจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีขับรถยนต์เฟอร์รารีชนนายดาบตำรวจในสังกัดสถานีตำรวจทองหล่อจนกระทั่งเสียชีวิตแล้วหลบหนี เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 ซึ่งในคดีดังกล่าว มีความผิดปกติตั้งแต่ช่วงแรกของการเกิดเหตุ คือ มีการนำตัวพ่อบ้านมาเป็นผู้ต้องหา แต่สื่อมวลชนและสังคมในขณะนั้นได้ให้ความสนใจ มีการติดตาม จนกระทั่ง ทำให้ทราบว่านายบอสเป็นผู้ขับขี่รถยนต์คันเกิดเหตุ มีการออกหมายจับเพื่อติดตามตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวกลับมาเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้งหลังจากคดีนี้มีการเผยแพร่จากสำนักข่าวต่างประเทศว่าพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีการเพิกถอนหมายจับ เนื่องจากความผิดฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ได้ขาดอายุความ

โดยแท้จริงแล้วนั้น คดีขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เกิดขึ้นในประเทศไทยบ่อยครั้ง ทั้งจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่พบว่าสถิติอุบัติเหตุจราจรทางบกของประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของโลกมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ด้วยสาเหตุที่สำคัญได้แก่ ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย การขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เมาแล้วขับ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม คดีนี้เป็นที่สนใจของประชาชนจำนวนมากเนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ผู้กระทำผิดเป็นทายาทของอภิมหาเศรษฐี มีการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาตั้งแต่ในช่วงแรก ความล่าช้าในการดำเนินคดี การพบพยานบุคคลในภายหลังซึ่งห่างจากช่วงเวลาเกิดเหตุหลายปี ประการสำคัญมีการกล่าวหาว่าความเห็นทางคดีขัดแย้งกับการตรวจพิสูจน์ร่องรอยหลักฐานในที่เกิดเหตุ และพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์

กรณีที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่กำลังท้าทายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมในหลายประการ ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำในเรื่องความยุติธรรม คุกมีไว้ขังเฉพาะคนจนและคนด้อยโอกาส กฎหมายจะไม่มีความหมายหากการบังคับใช้กฎหมายไม่เสมอภาคและเป็นธรรม เป็นต้น ความพยายามในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยได้มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 16 ที่ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งมีการกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องได้แก่ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เช่น กำหนดให้มีระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างทั่วถึง การสอบสวนคดีอาญาให้มีการถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ เสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมให้มุ่งอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยสะดวก รวดเร็ว และบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม จากข้อความที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่กรณีทายาทเจ้าของธุรกิจกระทิงแดง คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกสังคมวิพากวิจารณ์ทั้งในเรื่องหลักนิติรัฐ นิติธรรม แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยที่มีผลต่อความยุติธรรม รวมทั้งวัฒนธรรมองค์กรที่ยากจะเปลี่ยนแปลง คงเป็นอีกครั้งที่สะท้อนถึงความท้าทายระหว่างอำนาจ อิทธิพล ความร่ำรวยกับคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณในวิชาชีพ ท้ายที่สุดแล้ว กรณีดังกล่าวคงยังจะเป็นที่ถกเถียงกันในกระบวนการยุติธรรม และคนในสังคมทั้งเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายที่จะสามารถบังคับใช้ได้กับทุกคนอย่างเสมอภาค โปร่งใส และเป็นธรรม เพราะมิฉะนั้นแล้ว หากประชาชน และผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่เชื่อมั่น และหมดศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม ก็อาจจะส่งผลต่อการใช้ความรุนแรงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมเฉกเช่น กรณีกราดยิงโคราช หรือการรวมกลุ่มประท้วงของเยาวชน นักศึกษา และประชาชนที่กำลังเกิดขึ้น ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้คงมิใช่กฎหมายที่ถูกบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรแต่เพียงเท่านั้น แต่ต้องเกิดมาจากความเป็นธรรมของผู้ถือกฎหมาย และความจริงใจในการลงมือทำของผู้บริหารประเทศเพื่อความสงบสุขของสังคมมิใช่เพียงแต่คนรุ่นปัจจุบันแต่เพื่อจะสร้างบรรทัดฐาน และค่านิยมที่ดีงามให้แก่คนในสังคมในรุ่นต่อๆ ไป