ปิดฉาก “4 กุมาร-สมคิด” : กุนซือคู่ใจ “ประยุทธ์” ผู้เปลี่ยนโฉม “ผู้ทำรัฐประหาร” กลายเป็น “นักการเมือง”

ถือเป็นการอำลาบทบาททางการเมืองของกุนซือทางเศรษฐกิจอย่างทีมสมคิด ซึ่งประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและกลุ่ม 4 กุมาร คือ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม อดีตรองหัวหน้าพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกฯ อดีตกรรมการบริหารพรรคพปชร.

โดยเฉพาะกลุ่ม 4 กุมาร พวกเขามีบทบาทอย่างมากและอยู่ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาตั้งแต่เป็นผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช.จนมาถึงการให้กำเนิดพรรคพลังประชารัฐซึ่งผลักดันให้ผู้ก่อการรัฐประหาร 2557 ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังการเลือกตั้งปี 2562 และร่วมงานในฐานะคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจกุมกระทรวงสำคัญจนมาถึงวันที่ต้องเดินออกจากทำเนียบรัฐบาล ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างมากจากวิกฤตโควิด-19

ฝากโจทย์การบ้านใหญ่ให้กับทีมใหม่ว่าจะสามารถช่วยเศรษฐกิจไทยรอดพ้นจากหายนะที่เรียกได้ว่าเลวร้ายกว่าวิกฤตปี 2540 ไปได้หรือไม่

ก่อนจะนำไปสู่การลาออกและมีผลทันทีในวันนี้นั้น ได้เกิดกระแสความเคลื่อนไหวจนนำไปสู่การยุติบทบาทมาก่อนแล้ว

พายุการเมืองภายใน พปชร.

ก่อนเข้าสู่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐ จากความไม่พอใจของสมาชิกพรรคต่อการบริหารพรรคของกลุ่ม 4 กุมาร ความไม่ลงรอยในการจัดโผคณะรัฐมนตรีและความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นระหว่าง กก.บห.พรรคชุดกลุ่ม 4 กุมาร กับส.ส.ภายในพรรค โดยในจำนวนส.ส.หลายคน พวกเขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานยุทธศาสตร์พรรค เกิดการแบ่งกลุ่มขึ้นภายใน และความพยายามในการเขี่ยกลุ่ม 4 กุมาร ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ ซึ่งพวกเขาได้มาอยู่ในคณะรัฐมนตรีต่อทั้งที่ไม่ได้เป็น ส.ส.

เกิดเป็นแผนการ “ยึดพรรค” จากกลุ่ม 4 กุมาร

ส่วนสำคัญในการดำเนินแผนการนี้คือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปที่ยุบพรรคตัวเองแล้วเข้าร่วมกับพปชร. พร้อมกับกลุ่มสามมิตร ร่วมกับการเคลื่อนไหวของส.ส.ผ่านสื่อ อย่าง นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.แบบแบ่งเขต ที่ทำให้สาธารณชนรับรู้ถึงภาวะการเมืองภายใน พปชร.

จากนั้น นายไพบูลย์ พร้อมด้วย กก.บห.บางส่วนจำนวน 18 คน ได้พร้อมใจกันยื่นลาออกจากตำแหน่ง กรรมการบริหารพรรค โดยมีผล 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งเข้าเงื่อนไขทำให้กรรมการบริหารชุดดังกล่าวต้องยุติลงทั้งคณะ นำไปสู่การตั้งรักษาการคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อให้เกิดการประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

จากนั้น ชื่อของพล.อ.ประวิตร ได้ปรากฎขึ้นในกระแสการเปลี่ยนชุดกรรมการบริหารพรรค โดยยกให้พี่ใหญ่ของน้องๆเป็นหัวหน้าพรรค ภายใต้กระแส ฟื้นความสามัคคีภายในพรรค พร้อมกับทำให้ กลุ่มก๊วนการเมืองในพลังประชารัฐ ได้นั่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่นี้

ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐส่งเสียงให้ 4 กุมาร ออกจากพรรคและคืนโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีกลับมาให้พรรคด้วย

จนมาถึงการประชุมใหญ่ของพรรค เมื่อ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ของพล.อ.ประวิตรให้กลายเป็นนักการเมืองเต็มตัว ในฐานะหัวพรรคคนใหม่

บีบีซีไทยได้เผยเบื้องหลังการยึดพรรคครั้งนี้ว่า การผลักดันครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้ความเชื่อของคนการเมืองใน พปชร. ว่า “บารมี” ของ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” จะช่วยให้นักการเมืองที่อกหักจากการจัดโผ ครม. “ประยุทธ์ 2/1” ถึงฝั่งฝันบนเก้าอี้รัฐมนตรีได้ โดยมีการคาดการณ์ในหมู่นักการเมืองขั้วรัฐบาลว่าการปรับ ครม. ครั้งนี้จะเป็นการ “ปรับใหญ่” และเกิดขึ้นภายหลังการจัดทำกฎหมายงบประมาณปี 2564 เสร็จสิ้น

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ประกาศผ่านสื่อมวลชนเมื่อ 22 มิ.ย. ว่า “ไม่มีใครสามารถต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีกับผมได้” พร้อมแจกแจงเหตุผลความจำเป็นแทน “พี่ใหญ่” ในการเข้ารั้งเก้าอี้หัวหน้า พปชร. ว่า “เพื่อไม่ให้มีการแบ่งกลุ่มแบ่งพวกเพื่ออำนาจการต่อรอง เพราะใครจะเป็นตำแหน่งใด ก็จะต้องเป็นเรื่องที่พรรคเสนอมา”

4 กุมารไขก๊อกตัวเอง

วันที่ 9 กรกฎาคม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว สื่อมวลชนหลายสำนักได้รวมตัวกันอย่างเนืองแน่น เพราะ 4 กุมาร แถลงข่าวลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ โดยนายอุตตมกล่าวส่วนหนึ่งของการลาออกว่า

“จนมาถึงวันนี้จะกล่าวได้ว่าภารกิจของพวกเราทั้ง 4 คน ตามที่ได้เรียนไปแล้วนั้นก็ถือว่าได้บรรลุล่วงไปแล้วภารกิจทางการเมืองที่กล่าวมา ประกอบกับพรรคพลังประชารัฐมีคณะผู้บริหารใหม่ที่พร้อมจะนำพาพรรคให้เดินหน้าต่อไปได้ เพราะฉะนั้นก็คิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมที่พวกเราจะหยุดภารกิจทางด้านการเมืองในพรรค แต่เราจะทำงานต่อไปทางด้านบริหารตามภารกิจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาจากนายกฯ คือ จะยังทำหน้าที่ในคณะรัฐมนตรีต่อไป”

ด้านนายสมคิด ก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก่อนร่วมประชุมทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเกิดขึ้นหลังการแถลงลาออกจากพรรคของ 4 กุมารไม่นาน โดยคำถามที่ว่ามีการปรึกษาก่อนหรือไม่ นายสมคิดกล่าวว่า ไม่มี เป็นเรื่องภายในของพรรคเขา ซึ่งก็เป็นไปตามปกติ ฟังจากที่เขาแถลงถือว่าเป็นคำแถลงที่ดี เป็นมิตรต่อกัน จากกันด้วยดี ก็เท่านั้น ส่วนเรื่องของตำแหน่งรัฐมนตรีที่ถูกจับจ้องนั้น เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี คิดว่าท่านจะพิจารณาตามความเหมาะสม

จากนั้น นายสมคิดกล่าวอีกถึงคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่จะมีการปรับครม.ว่า ก็แล้วแต่นายกฯ เรื่องนี้ไม่มีปัญหา เป็นเรื่องของนายกฯ ไม่ใช่เรื่องของพวกตน

เมื่อถามย้ำว่า นายกฯ ได้พูดคุยกับนายสมคิดแล้วพร้อมทุกอย่าง นายสมคิด กล่าวว่า “ผมพร้อมตั้งแต่ปีที่แล้วแล้ว”

เมื่อถามว่า ส่วนตัวถอดใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า “ใจผมถอดมาหลายปีแล้ว”

คำกล่าวนายสมคิดนี้ กลายเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงวันนี้ ให้ 4 กุมารและนายสมคิด ยุติบทบาทลง เกิดขึ้นเร็วก่อนกำหนดที่พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวระหว่างพบสื่อสำนักต่างๆว่าจะมีการปรับครม.หลังจบการพิจารณางบประมาณปี 2564

กุนซือรัฐบาลทหาร-ผู้ก่อตั้ง พปชร.- ผู้อัญเชิญ “ผู้นำรัฐประหาร” เป็น “นักการเมือง”

นายอุตตม-นายสนธิรัตน์-นายสุวิทย์-นายกอบศักดิ์ เรียกว่าเป็นเทคโนแครตในกลุ่ม”สมคิด” ที่ถูกดึงตัวมาร่วมงานกับรัฐบาลคสช.ในช่วงที่ นายสมคิดเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจและเป็น 1 ใน 3 ส.ของกลุ่มสามมิตรในตอนนั้นด้วย

ด้วยความสัมพันธ์ทั้งในฐานะรุ่นน้องและศิษย์ ทั้ง 4 ก็มาช่วยงานในฐานะกุนซือเศรษฐกิจ โดยแต่ละคนก็มีพื้นเพต่างกัน

เริ่มจาก นายอุตตม เติบโตจากสายบริหารธนาคารพาณิชย์ ก่อนมาเป็นอาจารย์ที่นิด้าและอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ ได้รับตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีไอซีที (ปี 2558) ก่อนเปลี่ยนเป็นกระทรวงดีอีและได้นั่งต่อ และรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนลาออกจากคณะรัฐมนตรีเพื่อมาก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐและตำแหน่งสุดท้ายคือ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง

นายสนธิรัตน์ เริ่มเส้นทางในการเป็นนักธุรกิจ ก่อนเข้าเส้นทางการเมืองในฐานะสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมยุคนางอรรชกา สีบุญเรือง ในปี 2558 และขยับมาเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ปี 2559) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ปี 2560) ก่อนลาออกพร้อมกับนายอุตตมและคนอื่นๆร่วมตั้งพรรคพลังประชารัฐ นั่งในตำแหน่งเลขาธิการพรรคและตำแหน่งสุดท้ายคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ต่อมาคือนายสุวิทย์ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และเป็นผู้อำนวยการ SIGA เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ และเคยเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) จากนั้น สิงหาคม 2558 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ ต่อจากนั้น เดือนธันวาคม 2559 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปี 2560 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อนมาเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและตำแหน่งสุดท้ายคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

สุดท้ายคือ นายกอบศักดิ์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาประเทศ โดยทำงานในด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและนโยบายการเงินให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยและได้ช่วยงานให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จนในปี 2559 ได้มาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ในปี 2560 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นอดีตโฆษกพรรคพลังประชารัฐ และตำแหน่งสุดท้ายคือ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

ในช่วงที่กำลังเข้าสู่การเลือกตั้งเปลี่ยนผ่านการเมือง ทั้ง 4 ได้ลาออกมาตั้งพรรคพลังประชารัฐ และเป็นทั้ง 4 ที่แห่ขันหมากหา พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม

จนกระทั่งผู้นำรัฐบาลทหารที่ครั้งหนึ่งเคยกล่าวว่าสนใจการเมือง ได้กลายเป็นนักการเมืองเต็มตัว ด้วยการยกมือสนับสนุนจากส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.แต่งตั้งโดย คสช. 250 คน