สภาหอการค้าไทยร้อง EXIMBank ขยายวงเงินค้ำประกัน-พักหนี้ถึงปี’64

พิษโควิด-19 ทำส่งออกร่อแร่จ่อติดลบ 8.7% หลังถูกลูกค้าเบี้ยวหนี้-ลูกค้าขาดสภาพคล่องหนัก ด้าน “บิ๊กธุรกิจ” ขนทัพร้อง EXIM Bank ขอขยายวงเงินค้ำประกันส่งออก-เคาะมาตรการพักชำระหนี้ยาวถึงสิ้นปี”64 คาดครึ่งปีหลังไร้สัญญาณบวกจะติดลบหนักกว่าครึ่งปีแรก

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา สภาหอการค้าไทยพร้อมด้วยตัวแทนนักธุรกิจส่งออกรายใหญ่จาก 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้ประชุมประเมินสถานการณ์การส่งออกร่วมกับ นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank)และนางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โดยภาคเอกชนแจ้งต่อที่ประชุมถึงภาพรวมการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกของไทย มีโอกาสที่จะติดลบ 3% และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะติดลบไม่ต่ำกว่า 9% ซึ่งจะทำให้การส่งออกทั้งปี 2563 ของไทยติดลบ 8.7% เนื่องจากผลการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจโลก ประเทศคู่ค้าส่งออกสำคัญได้รับผลกระทบ ลูกค้าขาดสภาพคล่อง บางรายล้มละลายจนผิดนัดชำระหนี้

“เราขอให้ EXIM Bank ขยายวงเงินค้ำประกันการส่งออกเพิ่มขึ้นเพราะลูกค้าชะลอการจ่าย บางรายล้มละลาย ขอให้รัฐบาลพิจารณากำหนดมาตรการช่วยพักชำระหนี้ผู้ประกอบการส่งออก จากเดิมที่กำหนดว่าจะให้แค่ 6 เดือน ให้เป็นจนถึงสิ้นปี 2564 รวมถึงแบงก์พาณิชย์ด้วย แต่ประเด็นนี้ยังไม่ได้ให้ความชัดเจน เพราะยังต้องรอทางธนาคารแห่งประเทศไทยสนับสนุนเรื่องนี้ หากรัฐบาลไม่ยื่นมือมาช่วยผู้ส่งออกจะประสบปัญหาสภาพคล่องก็กระทบต่อภาพรวม ทั้งการดำเนินการการจ้างงานและกำลังซื้อ พร้อมทั้งขอให้ส่งเสริมการทำตลาดออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์อีคอมเมิร์ซมากขึ้นและเพิ่มมาตรการสนับสนุนการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าไทยมีความปลอดภัยจากโควิด อาทิ การจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ การจัดแฟร์ออนไลน์”

ทั้งนี้ โดยสินค้าที่คาดว่าจะติดลบรุนแรง ได้แก่ 1) กลุ่มสินค้าเกษตร จะติดลบ -1.7% จากการส่งออกยางพาราที่หดตัว -10.2%, น้ำตาลทราย -35.3%, ข้าว -7%,ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง -4% และ 2) กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมติดลบ -9.8% จากการส่งออกรถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ -31.7%, เม็ดพลาสติก -18.8%, สิ่งทอ -20.7%, ผลิตภัณฑ์ยาง -3.1%, วัสดุก่อสร้าง -5.7%, เครื่องใช้ไฟฟ้า -8.8%, กลุ่มสินค้าน้ำมันสำเร็จรูป -25.3%, กลุ่มสินค้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ -9.2% และเคมีภัณฑ์ -15.7%

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา EXIM Bank มีมาตรการที่ให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกอยู่แล้ว 7 มาตรการ คือ พักชำระหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน, ขยายเงื่อนไขบริการประกันการส่งออก, สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ (ซอฟต์โลน), สินเชื่อส่งเสริมการจ้างงาน, สินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต, สินเชื่อเพื่อสนับสนุนสินค้าผลไม้และยาง และมาตรการให้คำปรึกษาผู้ประกอบการในการจัดอบรมออนไลน์

สำหรับกลุ่มผู้ส่งออกรายใหญ่และกรรมการหอการค้า 20 รายที่เข้าร่วมประชุมอาทิ บริษัท เอี่ยมสุรีย์, บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน), บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย), บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย, บริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จำกัด (กลุ่มพลาสติก), บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์, บริษัท น้ำตาลมิตรผล, บริษัท ยูนิแฟ้บอีควิปเมนต์, สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป, สมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย