‘เทคโนฯ-อาชีวะ’ โอดเด็กลด 50% ชี้วิกฤตโควิดซ้ำ-วอน ‘นายกฯ’ ช่วย

‘เทคโนฯ-อาชีวะ’ โอดเด็กลด 50% ชี้วิกฤตโควิดซ้ำ-วอน ‘นายกฯ’ ช่วย

นักศึกษาลด – นายอดิศร สินประสงค์ นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนประสบปัญหาหนัก จากที่ สวทอ.รวบรวมข้อมูลพบว่า ภาพรวมของการรับนักเรียน นักศึกษา ลดลงเกือบ 50% ซึ่งวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งสะท้อนปัญหามาที่ สวทอ.ว่านักเรียนเข้ามาสมัครเรียนน้อยมาก ปัจจัยที่ส่งผลให้นักเรียนน้อย มีทั้งนักเรียนที่จบชั้น ม.3 อาจอยากเรียนต่อชั้น ม.4 โรงเรียนเดิม หรือนักเรียนมาสมัครเรียน แต่ไม่มารายงานตัว หรือมาสมัครเรียน แต่ไม่มีใบระเบียนแสดงผลการเรียนของทุกภาคการศึกษา (รบ.) มายื่น จึงทำให้ไม่สามารถสมัครเข้าเรียนได้ เป็นต้น

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลกระทบอีกอย่างคือ ผู้ปกครองไม่มีเงินจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา เนื่องจากตกงาน ที่ผ่านมาโรงเรียน หรือวิทยาลัยเอกชน ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวจากรัฐเพียง 70% และเรียกเก็บจากผู้ปกครอง 30% ส่วนโรงเรียน และวิทยาลัยรัฐ จะได้รับเงินอุดหนุน 100% จึงเกิดความไม่เท่าเทียมกัน ทั้งที่ผู้เรียนทั้งหมดเป็นเด็กไทยเหมือนกัน เมื่อผู้ปกครองไม่มีเงิน อาจส่งลูกเรียนโรงเรียนรัฐเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย หรือไม่ส่งลูกเรียนเลย” นายอดิศร กล่าว

นายอดิศรกล่าวว่า ทั้งนี้ ปัจจุบันวิทยาลัยเอกชนประสบปัญหา 2 ด้านด้วยกัน คือ ยอดสมัครที่ลดลง และผู้เรียนค้างค่าธรรมเนียมการเรียน อย่างวิทยาลัยที่ตนดูแล มีผู้เรียนค้างจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียนกว่า 50% แต่วิทยาลัยให้เรียนก่อน เพราะรู้ว่าผู้เรียนตั้งใจเรียน เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ค่อยมาจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาได้ เรื่องนี้สร้างผลกระทบกับวิทยาลัยเอกชนอย่างมาก เมื่อสถานการณ์ที่ผู้เรียนลดลงเรื่อยๆ ทุกปี รวมทั้ง มีวิกฤตโควิด-19 เข้ามาด้วย เหมือนเป็นตัวเร่งทำให้วิทยาลัยเอกชนได้รับผลกระทบหนักขึ้นไปอีก คาดว่าอีกไม่กี่ปี โรงเรียน และวิทยาลัยเอกชน จะปิดตัวลงอีกจำนวนมาก

“เมื่อผู้ปกครองได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงเลือกส่งลูกหลานไปเรียนที่โรงเรียนรัฐมากกว่า ปัจจุบันโรงเรียนรัฐมีจำนวนนักเรียนแน่นแล้ว อาจทำให้คุณภาพการศึกษาไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ จึงอยากให้รัฐช่วยผู้ปกครองเรื่องค่าใช้จ่าย เพื่อส่งลูกเรียนในที่ที่อยากเรียน เช่น ช่วยจ่ายค่าเทอมในช่วงโควิด-19 หรือจ่ายเงินให้นักเรียน 5,000 บาทต่อปี เพื่อให้นักเรียนนำเงินไปจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียนได้ เป็นต้น หากไม่สนับสนุนส่งเสริมสายอาชีพในเวลานี้ เชื่อว่าอีก 5-10 ปี ประเทศจะขาดแคลนแรงงานสายอาชีพจำนวนมาก อยากให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ช่วย เพราะตั้งแต่ที่โควิด-19 แพร่ระบาด รัฐไม่เคยช่วยเหลือวิทยาลัยเอกชนเลย มีแต่เข้ามาตรวจสอบความพร้อม และความปลอดภัยป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เท่านั้น” นายอดิศร กล่าว