แฉโรงงานกะทิส่งออก รับอานิสงส์ หลังพีต้าต้านลิงเก็บมะพร้าว

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม  กรณีสหภาพยุโรปและองค์กรพิทักษ์สัตว์ ( PETA ) รณรงค์ ไม่ให้ใช้กะทิแปรรูปจากไทย เนื่องจากมีการใช้ลิงกัง เก็บผลมะพร้าว เข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์ ทำให้ส่งผลกระทบราคามะพร้าวเริ่มลดต่ำลง จากผลผละ 18 บาทเหลือ 13 บาท ราคามะพร้้าวขาวเหลือกิโลกรัมละ 30 บาท ในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน

นายกิตติวงศ์ แสงสุวรรณ ตัวแทนเกษตรชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ อดีตคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า หลังจากกะทิกล่องถูกพีต้าต่อต้านที่ประเทศอังกฤษ ทำให้สถานการณ์เริ่มบานไปไปทั่วสหภาพยุโรป และประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ราคาซื้อมะพร้าวหน้าสวนลดลงทันที ผู้ที่ได้ประโยชน์ คือ โรงงานแปรรูปกะทิส่งออก เนื่องจากต้องการกดราคารับซื้อมะพร้าวในประเทศ ขณะที่ชาวสวนมะพร้าวมีต้นทุนอยู่ที่ 9 บาทต่อลูก เมื่อรวมกำไรการขายมะพร้าวขนาดผลใหญ่ควรไม่ต่ำกว่า 12 บาท

“ขณะนี้การรณรงค์ไม่ให้วางขายกะทิกล่องในสหภาพยุโรป ทำให้ส่งออกไม่ได้ แต่ผลผลิตมะพร้าวเริ่มมีปริมาณมากในช่วงเดือนกรกฎาคม อาจทำให้สินค้าล้นตลาด หากมีการนำเข้ามะพร้าวนอกเข้ามาซ้ำเดิม จะสะท้อนปัญหาวิกฤติราคามะพร้าวตกต่ำทั่วประเทศ เมื่อปี 2559 – 2561 ราคารับซื้อหน้าสวนอยู่ที่ผลละ 3 – 4 บาท ขณะที่บางช่วงมีราคาสูงสุด 25-27 บาท ทำให้ค่าเฉลี่ยราคาผลผลิตทั้งปีอยู่ที่ผลละ 7 บาท ถือว่าต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่ราคาผลละ 9 บาท” นายกิตติวงศ์ กล่าว

นายกิตติวงศ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลควรให้ความสนใจในเรื่องคุณภาพการผลิต ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ห้างค้าปลีกบางแห่งในสหรัฐอเมริกายกเลิกการขายกะทิกล่องทุกยี่ห้อ เนื่องจากวัตถุดิบกะทิมีส่วนผสมจากสารกันบูดในปริมาณสูงเกินมาตรฐาน และไม่มีคุณภาพ ดังนั้นการคว่ำบาตรมะพร้าวไทยคงไม่ใช้การใช้กังเก็บ แต่เป็นเรื่องคุณภาพของกะทิแปรรูปมากกว่า ซึ่งกะทิแปรรูปส่งออก เป็นผลผลิตจากกะทิไทยสัดส่วนร้อยละ 60 ที่เหลือเป็นส่วนเจือปนจากมะพร้าวต่างประเทศ ดังนั้นกะทิจากประเทศไทย ไม่ได้มาจากมะพร้าวในสวนเกษตรกรไทยเต็ม 100% หากรัฐจะส่งเสริมให้ใช้แต่ผลผลิตในประเทศและลดการนำเข้าจะเหมาะสมกว่า เพื่อช่วยวิถีชีวิตของเกษตรกรที่แท้จริง

สำหรับ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ปลูกมะพร้าว มีทั้งหมด 352,471 ไร่ จากจำนวนพื้นที่ 847,881 ไร่ทั่วประเทศ เป็นพื้นที่สามารถเก็บผลผลิตได้จำนวน 313,018 ไร่ ปริมาณ ผลผลิต 327,492 ตันต่อปี