สหภาพยุโรปเปิดตัวโครงการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย

ภายใต้การทำงานของทีมยุโรปในการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาทั่วโลก วันนี้สหภาพยุโรปได้แถลงการสนับสนุนโครงการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ด้วยงบประมาณ 2.6 ล้านยูโร หรือประมาณ 90 ล้านบาท จำนวนสองโครงการ โดยมีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มความสามารถและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมของไทย ที่จะช่วยลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจของกลุ่มประชากรเปราะบางที่สุดในประเทศ  ทั้งสองโครงการมีระยะเวลาการดำเนินงานเป็นเวลา 2 ปี และปฎิบัติงานโดยภาคีขององค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทย

โครงการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยของอียู มีส่วนประกอบหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด การฟื้นฟูด้านเศรฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนโดยการพัฒนาการดำรงชีพของชุมชนที่ได้ผลกระทบให้ดีขึ้น และการสร้างความสามารถในการยืดหยุ่นของชุมชนในการรับมือวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบตามมาอย่างใหญ่หลวง ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว ผลกระทบที่ว่านี้มีทั้งปัญหาด้านสาธารณสุขและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจน”นายเปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าว

นายตาปิโอลากล่าวด้วยว่า สิ่งที่แน่ชัดในตอนนี้คือ ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมกันรับมือกับผลลัพธ์เชิงลบที่จะตามมา ในฐานะที่สหภาพยุโรปเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน เรายังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมในการรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ โดยจะไม่ทิ้งผู้ใดไว้ข้างหลัง ผมยินดีอย่างยิ่งที่การร่วมมือกันของเราจะช่วยให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงต่อกลุ่มประชากรเปราะบางทั่วประเท

องค์กรหลักในการดำเนินงานของโครงการระดับประเทศคือองค์การแอ็คชั่นเอดประเทศไทย โดยร่วมกับองค์กรภาคี ซึ่งได้แก่มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และมูลนิธิชีววิถี โดยมีพื้นที่ในการปฏิบัติงานในเกือบ 40จังหวัด และจะทำงานกับภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ เช่น แรงงานข้ามชาติ และแรงงานนอกระบบ เด็ก และประชาชนชายขอบ ซึ่งครึ่งหนึ่งของผู้ที่ได้รับผลกระทบนี้ เป็นผู้หญิง

“เรามาร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือชุมชนต่างๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือแตกต่างกัน ทั้งในช่วงวิกฤตจากการระบาดของโรค และหลังจากนั้น โครงการที่จะดำเนินการครอบคลุมหลายภาคส่วน โดยจะมีการเตรียมชุมชนให้พร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเตรียมการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในระยะสั้น และระยะกลาง และมีมาตรการที่สามารถปรับให้ยืดหยุ่น เพื่อสามารถดำเนินงานในชุมชนชายขอบที่เปราะบางที่สุด”เทาฮีด ฟาริด ผู้อำนวยการองค์การแอ็คชั่นเอดประเทศไทย ให้ความเห็น

องค์การช่วยเหลือเด็กได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  และสมาคมนิสิตเก่าบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการดำเนินงานโครงการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มเยาวชน และแรงงานอพยพคืนถิ่น โดยเน้นที่กลุ่มผู้หญิงเป็นสำคั

“มีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่หลายครอบครัวที่ยากจนและเปราะบางในประเทศไทยจะไม่สามารถกลับมาดำเนินชีวิตอย่างปกติหลังจากวิกฤตโควิด-19” นายประเสริฐ ทีปนาถ ผู้อำนวยการองค์การช่วยเหลือเด็ก กล่าว “เราต้องมั่นใจว่าบุคคลเหล่านี้จะมีความเข้มแข็ง และมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ส่วนบุคคล ครอบครัวและชุมชน ให้สามารถรับมือ ป้องกัน และลดผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”

ทั้งนี้ สหภาพยุโรป (อียู) เป็นการรวมตัวในลักษณะสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศในทวีปยุโรป มีสมาชิกในปัจจุบันจำนวน 27  ประเทศ ประเทศสมาชิกได้ร่วมกันสร้างภูมิภาคที่มีความมั่นคง เป็นประชาธิปไตย และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศสมาชิก เปิดกว้างในการยอมรับซึ่งกันและกัน  และเคารพเสรีภาพของประชาชน ในปี 2555 (ค.ศ. 2012)  สหภาพยุโรปได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เนื่องจากเป็นองค์กรที่ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ความสมานฉันท์ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในยุโรป

สหภาพยุโรปเป็นสมาคมทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงเป็นแหล่งทุนและเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ นอกจากนี้สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกยังเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance) รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยที่มูลค่าการให้ความช่วยเหลือรวมกันเกินครึ่งหนึ่งของยอดรวมทั้งโลก