“ธัญวัจน์” ซัด “วิษณุ” อย่าเล่นบทบิดาแห่งการยกเว้น ทำสังคมสับสนหวังปัดตก. พรบ.สมรสเท่าเทียม

วันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการให้สัมภาษณ์ของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายจะใช้กฎหมายเดียวกับคู่สมรส พร้อมระบุว่าหลายเรื่องต้องกระจายกัน เพราะบางอย่างต้องทำในพระราชบัญญัติพิเศษ ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต อีกฉบับหนึ่งที่ต้องประกบไปด้วย การแก้ไขเฉพาะประมวลแพ่งและพาณิชย์ ก็ยังไม่พอ เพราะจะต้องไปแก้กฎหมายลูกของ พ.ร.บ.อื่น เช่น กฎกระทรวงเกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็นำร่องไปก่อน ส่วนจุดที่ต้องตามไปแก้ก็มีเช่น การรับบำนาญ ต้องไปแก้ที่ พ.ร.บ.บำเหน็จ บำนาญ แก้ทีเดียวหมดไม่ได้ เพราะหลายเรื่องกระจายกันอยู่

ธัญวัจน์ กล่าวว่า ฟังจากคำตอบแล้วดูเหมือนการหยั่งรู้ว่าสุดท้ายปลายทางแล้ว พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมที่พรรคก้าวไกลผลักดันจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เป็นรูปธรรม ต้องมี พ.ร.บ.คู่ชีวิต ประกบ เพื่อแก้ไขฎหมายตามมาไม่ว่าจะเป็น เรื่องบุตรบุญธรรม หรือบำเหน็จบำนาญ ซึ่งการกล่าวเช่นนี้ทำให้สังคมสับสนมาก เพราะเป็นการนำข้อจำกัดของ พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่มีปัญหามากและต้องตามไปแก้กฎหมายต่างๆดังกล่าวนั้นมาปะปนกับข้อเสนอของพรรคก้าวไกล

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับร่าง พ.ร.บ.คู่สมรส ที่พรรคก้าวไกลเสนอ คณะทำงานของพรรคได้ศึกษามาแล้วอย่างถี่ถ้วน การแก้ไข ป.ป.พ.1448 มีความเป็นไปได้และทำให้คนทุกคนเท่าเทียม และไม่ใช่สิ่งที่ยุ่งยาก แต่สิ่งที่ นายวิษณุกล่าวเหมือนทำให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ยุ่งยากมาก ซึ่งความยุ่งยากนั้นเองจะเป็นเครื่องตอกย้ำว่าจะไม่สามารถนำพาความเท่าเทียมได้

“จึงเรียนท่านวิษณุอีกครั้งว่า คู่ชีวิต ไม่เท่ากับ สมรสเท่าเทียม คู่ชีวิต ไม่ใช่ สมรส เป็นคนละเรื่องกัน แต่กฏหมายที่ผ่านมติ ค.ร.ม. มา มาตรา 46 ใน พ.ร.บ. คู่ชีวิต ระบุให้มีการนำกฏหมายสมรสมาใช้โดยอนุโลม ซึ่งยิ่งสร้างปัญหาในการตีความ และยิ่งกลายเป็นปัญหาสำหรับประชาชน เพราะการอนุโลมดูเหมือน ให้นำมาใช้ได้ แต่มีข้อแม้คือต้องไม่ข้ดกับหลักการของ พ.ร.บ. นั้น นี่คือการปล่อยให้เป็นภาระประชาชนที่ต้องไปเถียงกับหน่วยงานต่าง ๆ และต้องตีความ บางอย่างอาจเป็นเรื่องเร่งด่วน เป็นเรื่องเป็นเรื่องตาย ประชาชนคงไม่สามารถที่จะไปเถียงกับหน่วยงานหรือผู้บังคับใช้กฏหมายในเวลานั้นได้ หากท่านมีความจริงใจและเห็นคนเท่ากัน ท่านก็ไม่น่าให้สัมภาษณ์ปิดประตู เพื่อไปสู่การสมรสเท่าเทียม”

ธัญวัจน์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า การแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ อาจบ่งบอกถึงจิตสำนึกลึกๆของนายวิษณุในฐานะผู้ที่รับผิดชอบด้านกฎหมายในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ว่า ไม่เคยมองเห็นคนเท่าเทียมกันได้ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ต้องมีการจำแนกและออกกฎหมายแยกออกมาเป็นคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้

“แล้วเราจะหวังให้พวกคุณเห็นค่าทุกชีวิตที่เท่ากันได้อย่างไร หากลึกๆแล้วคุณมีความคิดแบบนี้อยู่ตลอดเวลา แต่เรื่องแบบนี้อย่างไรคงห้ามกันยาก ขอแค่อย่าใช้บทบาทกูรูด้านกฎหมายและความเป็นบิดาแห่งการยกเว้นมาสร้างความสับสนเพื่อเลี่ยงประโยชน์ของประชาชนก็พอ” ธัญวัจน์ กล่าว