“หญิงหน่อย” ห่วงไทยเสี่ยงเข้าภาวะ “ล่มสลายทางการคลัง” หากไม่ปรับงบฯ64 รับสึนามิเศรษฐกิจ

วันที่ 13 กรกฎาคม 2563 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความกังวลต่อวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นท่ามกลางข้อท้วงติงว่าด้วยงบประมาณประจำปี 2564 ที่มีหลายส่วนจัดสรรไม่ตรงกับการแก้ไขปัญหาในเวลานี้ที่ได้รับผลจากวิกฤตโควิด-19 และมาตรการของรัฐบาลที่ควบคุมการระบาดจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตประชาชนว่า

สิ่งที่ดิฉันกังวลสำหรับอนาคตประเทศที่สะท้อนผ่านการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่ต้องขอเตือน พลเอกประยุทธ์ ว่า ไทยกำลังเข้าสู่สภาวะการล้มละลายทางการคลัง

ความกังวลประการแรก เป็นไปตามที่นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้ตั้งข้อสังเกตในสภาไว้แล้ว นั่นคือ รายจ่ายประจำของไทยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากการรัฐประหารปี57 โดย “รัฐราชการ” เติบโตขึ้นอย่างมาก ทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น จนทำให้รายได้ของประเทศที่มาจากภาษีอากรของพี่น้อง ประชาชนหมดไปกับรายจ่ายประจำประเภทเงินเดือนข้าราชการ และการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ จนไม่เหลือเงินที่จะนำมาลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ

หากพิจารณาจากโครงสร้างงบประมาณ 2564 จะพบว่าเรามีรายรับจากการจัดเก็บภาษีเพียง 2.67 ล้านล้านบาท แต่มีรายจ่ายประจำและรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้เงินต้น 2.625 ล้านล้านบาท เหลือเป็นส่วนต่างที่จะนำมาลงทุนเพียงไม่ถึง 50,000 ล้านล้านบาท แต่หากการจัดเก็บภาษีไม่ได้ตามประมาณการเราจะไม่เหลือเงินที่จะนำมาลงทุนเลย ส่วนรายจ่ายประจำต้องจ่ายไปตามปกติไม่สามารถลดลงได้ เพียงแค่รายการเดียวพี่น้องคงเห็นอนาคตว่าเรากำลังเดินทางไปสู่ความหายนะทางการคลัง

ด้านรายได้ที่มาจากการจัดเก็บภาษีประมาณร้อยละ 15 ของจีดีพีซึ่งนับว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่หากพิจารณาถึงรายได้ประชาชาติหรือจีดีพีของไทย ณ สิ้นปี 2562 เป็นเงิน 16.875 ล้านล้านบาท โดยเป็นรายได้ที่มาจากการส่งออกประมาณร้อยละ 70 แต่มีรายได้จากการส่งออกจำนวนหนึ่งที่เราไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพราะเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) หรือเอฟดีไอซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (Board of Investment)

เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออก 10 อันดับแรก ของปี 2562 ได้แก่ (1) รถยนต์และส่วนประกอบ 846,435 ล้านบาท (2) คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ 564,626 ล้านบาท (3) อัญมณีและเครื่องประดับ 486,216 ล้านบาท (4) ผลิตภัณฑ์ยาง 347,649 ล้านบาท (5) เม็ดพลาสติค 284,263 ล้านบาท (6) เคมีภัณฑ์ 235,246 ล้านบาท (7) แผงวงจรไฟฟ้า 234,892 ล้านบาท (8) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 227,071 ล้านบาท (9) น้ำมันสำเร็จรูป 226,962 ล้านบาท และ (10) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 170,578 ล้านบาท รวม 3,605,938 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21.3 ของจีดีพี ปรากฏว่าเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศเพียงรายการเดียวคือผลิตภัณฑ์ยาง ที่เหลืออีก 9 อันดับเป็นสินค้าของต่างประเทศที่ไทยได้เพียงค่าแรงแต่เก็บภาษีไม่ได้ ดังนั้น รายได้ประชาชาติหรือจีดีพีที่เป็นฐานการก่อหนี้สาธารณะซึ่งขณะนี้อยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 60 จึงถือว่าสูงมากแล้ว เพราะจีดีพีที่เก็บภาษีได้มีไม่ถึง 16.875 ล้านล้านบาท

สิ่งที่น่ากังวลมากไปกว่านั้นคืออุตสาหกรรมที่เคยเป็นแชมป์การส่งออกที่ทำให้จีดีพีของเราสูงมาตลอดนั้น กำลังจะกลายเป็นอุตสาหกรรมขาลงหรือกำลังจะหมดอนาคต (sunset industry) เพราะบางอุตสาหกรรมกำลังจะย้ายฐานการผลิตและบางอุตสาหกรรมกำลังถูกอุตสาหกรรมใหม่แทนที่ (disruptive industry) อันจะทำให้จีดีพีของเราหดตัวลงแต่รัฐบาลยังไม่ได้ตระหนักถึงภยันตรายดังกล่าวดูได้จากการที่รัฐบาลยังจัดสรรงบประมาณด้านการลงทุนไปกับการสร้างอาคารของกระทรวงต่างๆ การตัดถนนอีกมากมาย รวมทั้งการซื้ออาวุธ การอบรมสัมมนาต่างๆ
ที่ไม่ใช่การลงทุนที่จะทำให้เกิดรายได้ใหม่หรือการจ้างงานใหม่ ให้ประชาชน เพื่อแก้ไขสภาวะ #สึนามิเศรษฐกิจ ในขณะนี้ได้เลย

รัฐบาลยังมองไม่ออกว่าเศรษฐกิจหลังโควิด19 จะเป็นแบบไหนในอันที่จะเตรียมฐานการผลิตและวางโครงสร้างพื้นฐานไว้รองรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดใหม่หลังโควิดดังกล่าว ซึ่งเป็นที่น่าห่วงว่าการจัดงบปี 64 รัฐบาลยังไม่ตระหนัก และไม่มีการจัดงบประมาณ เพื่อสนับสนุนเพื่อให้เกิดฐานรายได้ใหม่ จากความแข็งแกร่งเดิมของเรา ไม่ว่าจะเป็นเกษตร, ท่องเที่ยว, และสาธารณสุข

นายกรัฐมนตรียังสนุกกับการกู้เงินและควบคุมประเทศเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองต่อไป โดยไม่ได้ตระหนักว่าประเทศกำลังเดินหน้าไปสู่ความหายนะหรือการล้มละลายทางการคลัง