หมอจุฬาฯห่วงติด “โควิด-19” ไม่แสดงอาการทำระบาดรอบ2 ติงรัฐบาลไม่กักตัว ผบ.ทบ.สหรัฐ

หมอจุฬาฯ ห่วงติด “โควิด-19” ไม่แสดงอาการทำระบาดรอบ2 ติงรัฐบาลไม่กักตัว ผบ.ทบ.สหรัฐ

หลังรัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ระยะที่ 5 ซึ่งในช่วงวันหยุดยาวปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คนไทยออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านกันมากขึ้น แต่เริ่มละเลยการป้องกันตัวเอง ขณะเดียวกัน กองทัพไทยเตรียมต้อนรับผู้บัญชาการทหารบก สหรัฐอเมริกา และคณะ โดยให้ยกเว้นการกักตัว ซึ่งหลายฝ่ายวิตกกังวลว่า อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 นั้น

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวแสดงความห่วงใยว่า มีหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 ซึ่งหากเป็นไปตามคาด ไทยจะไม่มีโอกาสฟื้นฟูประเทศได้อีก เพราะต้องใช้งบประมาณมหาศาล โดยปัจจัยเสี่ยงคือ 1.คนไทยเชื่อว่าไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ อาจทำให้บางคนละเลยป้องกันการติดเชื้อ ไม่สวมหน้ากาก ไม่ล้างมือ ไม่เว้นระยะห่าง ในความเป็นจริงแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ติดเชื้อภายในประเทศไทยจะเป็นศูนย์หลังจากเชื้อแพร่เข้ามาในประเทศเพียง 6 เดือน และประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยส่วนตัวเชื่อว่าเหมือนหลายๆ ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการ เช่น ในวัยหนุ่มสาว หรือมีสุขภาพแข็งแรง แม้ติดเชื้อและไม่แสดงอาการ แต่ก็สามารถแพร่เชื้อได้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า 2.การใช้บริการรถสาธารณะ ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า พบว่าประชาชนไม่เว้นระยะห่าง ทางแก้คือ แต่ละหน่วยงานควรให้คงมาตรการทำงานที่บ้าน (เวิร์ก ฟอร์ม โฮม) เพื่อลดจำนวนผู้ใช้บริการรถสาธารณะและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ 3.การเปิดเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กซึ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะเป็นวัยที่ยากจะควบคุมไม่ให้ใกล้ชิดกัน วิธีป้องกันคือ นอกจากจัดโต๊ะเรียนเว้นระยะห่างแล้ว ควรจัดสถานที่เรียนให้อยู่ในที่โล่ง อากาศถ่ายเทดี เปิดประตู หน้าต่าง เพราะหากอยู่ในสถานที่ปิด เชื้อที่ออกมาจากการไอ หรือจามจะลอยฟุ้งอยู่ในอากาศเป็นเวลานาน ทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น และอีกวิธีคือ นอกจากจะให้เด็กสวมหน้ากาก หรือเฟซชิลด์ แล้ว ควรให้เด็กสวมหมวกติดปีกแบบนักเรียนในเมืองอู่ฮั่น

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า 4.บุคคลที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ต้องมีการตรวจคัดกรองและกักตัวอย่างเข้มงวดทุกคน เพราะถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง โดยตรวจก่อนเข้าประเทศ 2 รอบ คือ รอบแรก ตรวจก่อนเดินทางเข้ามา 5 วัน เพื่อหาเชื้อ และรอบที่ 2 ตรวจก่อนเข้าประเทศ 1 วัน เพื่อยืนยันผลอีกครั้ง เมื่อถึงประเทศไทยต้องกักตัวอย่างน้อย 4-6 วัน และตรวจหาเชื้อ ซึ่งหากต้องการความรวดเร็วก็สามารถตรวจหาเชื้อโดยวิธีตรวจเลือด ซึ่งเป็นวิธีที่รู้ผลเร็ว อย่างช้าไม่เกิน 1 วัน

“การแถลงข่าวของ ศบค.ที่ระบุว่าไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศ อาจทำให้ประชาชนชะล่าใจ และไม่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการป้องกันการติดเชื้อ เราเริ่มเห็นในที่สาธารณะและสถานที่ท่องเที่ยว คือ มีการกอดคอกัน การพูดคุยกันโดยไม่สวมหน้ากาก ไม่เว้นระยะห่าง ซึ่งอันตรายมาก จึงอยากให้ ศบค.ย้ำประชาชนว่าการ์ดอย่าตก และปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังกล่าวถึงกรณีผู้บัญชาการทหารบก สหรัฐฯ พร้อมคณะ มาเยือนประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว ทั้งๆ ที่สหรัฐเป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรง ว่า เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ทุกคนควรปฏิบัติบนมาตรฐานเดียวกัน เพราะแม้บุคคลสำคัญก็ไม่ได้การันตีว่าจะไม่ติดเชื้อ รัฐบาลควรคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในประเทศด้วย

“ล่าสุด มีรายงานว่าเชื้อโควิด-19 มีการปรับรหัสพันธุกรรม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังจับตาดูว่า การปรับรหัสพันธุกรรมดังกล่าวจะสัมพันธ์กับการแพร่เชื้อได้เพิ่มขึ้น หรือแพร่เชื้อได้เร็วขึ้นหรือไม่ ดังนั้น คนไทยจึงยังต้องดูแลป้องกัน และระมัดระวังตัวเองกันต่อไป เพราะตราบใดที่เชื้อโควิด-19 ยังคงมีการแพร่ระบาด ก็ไม่อาจวางใจได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว