“เพื่อไทย” เปิดแผลมาตรการท่องเที่ยวรัฐบาลส่อทุจริต ช่องโหว่เพียบ อุ้มรายใหญ่ รายย่อยตายเรียบ!

นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย และ กรรมาธิการการท่องเที่ยว ชี้ ‘มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน’ ‘มาตรการให้กำลังใจ’ ช่อโหว่เพียบ ไม่ช่วยเหลือผู้ประกอบรายย่อย เอื้อทุนใหญ่ และส่อทุจริต

สืบเนื่องจากผลมติการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2563 เรื่องผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบการการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส ของกระทรวงการท่องเที่ยว วงเงิน 22,400 ล้านบาท แบ่งเป็น สองโครงการ คือ 1.โครงการเราเที่ยวด้วยกัน (20,000 ล้าน บาท) 2. โครงการกำลังใจ (2,400 ล้านบาท)

โดยทั้งสองโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม สายการบิน ร้านอาหาร เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในภาคการท่องเที่ยว และการจ้างงาน

โดย น.ส. สรัสนันท์ แจงว่า ในที่ประชุม กรรมาธิการท่องเที่ยววันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่าน หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความกังวลในทิศทางเดียวกันต่อมาตรการที่กำลังจะออกมา โดยมีข้อสังเกตการณ์โดยรวมดังนี้

โครงการเราเที่ยวด้วยกัน
1. เงื่อนไขนโยบายที่ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึง เพิ่มความเลื่อมล้ำ ลดขีดการแข่งขัน
* ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าไม่ถึง
* ผู้ประกอบการโรงแรมกว่า 90% เข้าไม่ถึงโครงการ เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ได้อยู่ในระบบ เช่น โรงแรมขนาดเล็ก โฮมสเตย์ กลุ่มบูติคโฮเทล โฮสเทล ห้องเช่ารายวัน
* เอื้อต่อทุนกลุ่มใหญ่
* เพดาน 3,000 บาท ต่อคืน ที่หมายถึงการเปิดโอกาสให้ห้องพักที่มีมูลค่าสูงถึง 7,500 บาท ได้สิทธิ์ โดยก้อนเงินส่วนใหญ่จะไปกระจุกที่โรงแรมกลุ่ม luxury สี่ดาวและห้าดาว ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มบริษัทเจ้าใหญ่และเป็นกลุ่มบริษัทข้ามชาติ
* โรงแรมใหญ่ ห้องเยอะ ยิ่งมีสิทธิ์ได้สัดส่วนเงินเยอะ เข้าข่าย “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”
* 2,000 ล้านบาท ที่ล็อคไว้ให้สายการบินเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น
* ผ่านระบบเป๋าตัง
* กีดกันกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบอย่างทั่วถึง

2. นโยบายนี้ยังไม่มีกลไกป้องกันทุจริตและการจัดการช่อโหว่ที่อาจเอื้อต่อกลุ่มคนคิดไม่ซื่อ

โครงการกำลังใจ
1. ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ตอบโจทย์ ทั้งการ “ให้กำลังใจ” เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขและเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวโดยรวม
* งบประมาณครึ่งครึ่งกลางกลาง จัดสรรวงเงินให้ อสม. เพียงคนละ 2,000 บาท ในรูปแบบทัวร์ 2วัน 1คืน ซึ่งในทางปฎิบัติจะเพิ่มภาระให้อาสาสมัครต้องออกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเอง ส่วนผู้ประกอบการทัวร์ต้องแบกต้นทุนที่ได้กำไรต่ำ ส่งผลให้ได้ทัวร์คุณภาพต่ำ เช่น การจัดที่พักนอนรวมในห้องเล็ก หรือ การได้เพียงข้าวกล่องต่อมื้อ ซึ่งนโยบายนี้ยากที่จะกำกับดูแลคุณภาพที่เหมาะสม

2. ให้สิทธิ์ที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการกลุ่มเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร (เช่น การไม่ประสงค์ท่องเที่ยว, อายุมาก) ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ที่เข้าร่วมไม่เกิน 40% ของกลุ่มเป้าหมายจากสิทธิ์ที่มอบให้ อสม. 1.2 ล้านคน ทั่วประเทศ

3. ส่อทุจริต
* ล็อกสเปกผู้ประกอบการโดยต้องอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวกับส่วนกลางในการรับงาน
* มีการเรียกเก็บบัตรประชาชน อสม. เพื่อรับงาน แต่ไม่มีการท่องเที่ยวจริง

เจตนารมณ์ที่อยากตอบแทนให้กำลังใจเจ้าหน้าที่อาสาสมัครนั้น ไม่ควรนำมาผูกกับนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ยากต่อการจัดแจงและไม่เห็นผลชี้วัด ควรแจกจ่ายในรูปแบบอื่น เช่นการเพิ่มเบี้ยเลี้ยง ซึ่งจะสามารถกระจายเม็ดเงินไปทั่วประเทศ ได้ผลโดยตรงต่อการเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศอย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ สามารถบรรเทาความเดือดร้อน และตรงต่อความต้องการของกลุ่ม อสม.

แม้นโยบายทั้งสองโครงการมีเจตนารมณ์ดีเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว แต่ในแง่การออกแบบนโยบายยังไม่ผ่าน เพราะรัฐบาลยังไม่เข้าใจปัญหาความซับซ้อนของโครงสร้างเศรษฐกิจ วิธีการปฏิบัติหรือเงื่อนไขต่างๆยังไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจปัจจุบันได้ โครงสร้างภาคธุรกิจประกอบไปด้วยผู้ประกอบการรายย่อยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างสาหัสและกำลังจะตาย ยังคงถูกมองข้าม ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม