‘ทวี’ แนะ กมธ.งบ’64 พิจารณาเปิดข้อมูล ห่วง รบ.เบิกจ่ายไม่ทัน จี้แจงงบลงทุนให้ชัด ชะลอซื้ออาวุธ

‘ทวี’ แนะ กมธ.งบ’64 พิจารณาเปิดข้อมูล ห่วง รบ.เบิกจ่ายไม่ทัน หวั่นงบกลางไม่โปร่งใส จี้แจงงบลงทุนให้ชัด-มีประสิทธิภาพ-ชะลอซื้ออาวุธ

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กล่าวว่า ความเห็นส่วนตัวอยากให้การพิจารณาของ กมธ.ยึดกฎหมาย เปิดเผยให้ประชาชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เบื้องต้นสำนักงบประมาณและรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลก่อนจะถึงวันพิจารณาประมาณ 3-5 วันเป็นอย่างน้อย และต้องมีข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณในปี’63 ของหน่วยงานรัฐว่าใช้ไปเท่าไร ยังเหลือจริงเท่าไร เพราะตาม พ.ร.บ.วิธีงบประมาณต้องเบิกจ่ายภายในปีงบประมาณ คือสิ้น 30 กันยายน 2563 ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณไม่ถึง 3 เดือน หากใช้ไม่ทันงบประมาณจะต้องคืนให้เป็นเงินแผ่นดิน

พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า กรณีการเบิกจ่ายไม่ทัน ไม่เห็นด้วยที่จะให้ขยายเวลาขอเบิกจ่ายกับคลัง แม้จะทำได้ความเห็นส่วนตัวในช่วงวิกฤตขณะนี้ไม่เหมาะสม ซึ่งจากที่ดูข้อมูลจากที่ได้สอบถามถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 งบกลางปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่ตั้งไว้ จำนวน 518,770 ล้านบาทเศษ (เป็นรายจ่ายประจำประมาณ 449,220 ล้านบาทเศษ และงบฉุกเฉิน 9.6 หมื่นล้านเศษ) ยังไม่รวมที่โอนงบมาอีก 8.8 หมื่นล้านบาท พบว่ามีงบกลางค้างไม่ได้เบิกที่ปรากฏใน GFMIS มากถึง 428,419 ล้านบาท จึงมีความสงสัยว่าทำไมตัวเลขจึงเหลือมาก และงบกลางมีความห่วงใยเรื่องไม่โปร่งใสมาก จะมีข้อมูลและผู้อนุมัติคือนายกรัฐมนตรีกับ ผอ.สำนักงบประมาณ

พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า กมธ.ต้องมีข้อมูลการประเมินผลว่าการใช้จ่ายงบประมาณเกิดประสิทธิภาพ คุ้มค่าในการจ่ายงบประมาณหรือไม่ ทั้งนี้ มีความห่วงใยในเรื่องความไม่ชอบกฎหมายวินัยการเงินการคลังที่กำหนดให้รายจ่ายลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 แต่ในร่าง พ.ร.บ.มีคำว่า งบลงทุนเพียงร้อยละ 15.6 ไม่มีคำนิยามรายจ่ายลงทุนไว้ในกฎหมาย และสำนักงบประมาณได้นำรายจ่ายอื่นๆ เป็นรายจ่ายลงทุน จึงเป็นห่วงความชัดเจนในการตีความ

พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า อีกประเด็นคือแผนงานบูรณาการ รัฐได้จัดงบทำซ้ำๆ มาหลายปี ไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาตามวัตถุประสงค์ เป้าหมายของแผนงานบูรณาการได้ ซึ่งความจริงควรจะประสบความสำเร็จภายใน 1-2 ปี หากไม่สำเร็จไม่ควรเรียกแผนบูรณาการ เช่น ปราบปรามและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ปีนี้ ตั้งไว้ 6,286 ล้านบาทเศษ แต่ในมุมมองของประชาชนพบว่าการแพร่ระบาดของยาเสพติดกลับรุนแรงมากขึ้น หรือยิ่งบูรณาการยาเสพติดยิ่งเพิ่มนั่นเอง หรือแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยาวนาน

“เมื่อถามรัฐจะบอกว่าดีขึ้น แต่จากการวิจัยสำรวจของเครือข่ายอาจารย์มหาวิทยาลัย พบว่า ประชาชนตอบว่าไม่ดีขึ้นเลย บางสวนบอกตกต่ำลง ความหวาดระแวงสูงขึ้น นอกจากนี้ แผนบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษ (อีอีซี) ที่แนวโน้มของธุรกิจต่างๆ นี้ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวก็ดี หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง การบิน ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยน ควรมีการปรับเปลี่ยน

“เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการพิจารณา อยากให้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือบิ๊กดาต้า ที่รัฐบาลมีอยู่มาช่วย และนำผลการตรวจบัญชีของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาประกอบการพิจารณาด้วย ต้องการเห็นการจัดงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มุ่งเป็นสวัสดิการทั่วหน้า กับคนยากไร้ ควรชะลอการซื้ออาวุธ งบความมั่นคงอื่นๆ และเพิ่มลงทุนพื้นฐานโดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนหมู่บ้านเป็นผู้ดำเนินการเนื่องจากรู้ปัญหาความต้องการดี เพื่อให้การจัดงบประมาณมีการกระจายความเป็นธรรม และความเสมอภาค เพื่อฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ หรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยโควิด และภัยพิบัติ” เลขาธิการพรรค ปช.กล่าว