กรมโรงงานชี้ลงทุน “อีอีซี” ครึ่งปีวูบหนัก เยอรมนีพับแผนผลิต “รถไฟฟ้า” ในไทย

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม สถานการณ์เศรษฐกิจไทยน่าห่วง ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5ก.ค.นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแนวโน้มการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) และขยายกิจการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ช่วงครึ่งปี 2563 (มกราคม-มิถุนายน) ไม่รวมพื้นที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พบว่ามีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 273 โรงงาน เพิ่มขึ้น 16.66% จากช่วงเดียวกันในปี 2562 ที่มีอยู่ 234 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 4.47 หมื่นล้านบาท ลดลง 39.34% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่อยู่ที่ 7.37 หมื่นล้านบาท และการจ้างงานทั้งหมด 1.48 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 13.84% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่อยู่ที่ 1.3 หมื่นคน

จากตัวเลขจำนวนโรงงานที่เพิ่มขึ้น แสดงว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเดินหน้าตามแผนลงทุนเดิม และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนไม่สูงมาก เพราะมูลค่ารวมลดลง โดยผู้ประกอบการยังคงต้องติดตามสถานการณ์ในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ว่าจะมีการแพร่ระบาดรอบ 2 หรือไม่ แต่คาดว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นเห็นได้จากมาตรการป้องกันของภาครัฐและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง” นายประกอบกล่าว

นายสุพันธุ์ มงคลสธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือร่วมกับเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจําประเทศไทย เรื่องการลงทุนในไทย โดยนักลงทุนเยอรมันมีความเป็นห่วงแผนการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เนื่องจากรัฐบาลไทยยังไม่ได้ขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการลงทุนสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ยังมีน้อย และกฎหมายของไทยยังไม่มีมาตรการบังคับให้เกิดสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่ม อาทิ การสร้างคอนโดมิเนียมยังไม่มีกฎหมายบังคับให้มีจุดชาร์จไฟฟ้า หรือในสถานที่อื่นๆ

ทางเยอรมนีมองว่าหากไทยยังไม่มีความพร้อมเรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้า ก็ยากจะผลักดันให้มีผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่สามารถผลักดันยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทยได้ ทางค่ายรถยนต์ของเยอรมนีที่มีโรงงานในประเทศไทย จึงยังไม่มีแผนจะลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรืออาจชะลอแผนลงทุนออกไปก่อนจนกว่าไทยจะมีความชัดเจนเรื่องนี้” นายสุพันธุ์กล่าว

นายสุพันธุ์กล่าวว่า ส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่น ขณะนี้บริษัทขนาดใหญ่ทั้งของเยอรมนีและสหภาพยุโรปก็ยังไม่ได้มีแผนชัดเจนเข้ามาลงทุนในอาเซียน ดังนั้นไทยควรจะฉวยโอกาสช่วงนี้ดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาในประเทศไทย โดยใช้จุดเด่นในมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และผลจากการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี รวมทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการผลิตเพื่อจำหน่ายในอาเซียน มั่นใจว่ายังมีบริษัทขนาดใหญ่ในยุโรปต้องการมาลงทุนในภูมิภาคนี้อีกมาก

นายสุพันธุ์กล่าวด้วยว่า ไทยควรจะเพิ่มจุดแข็งในการดึงดูดการลงทุน โดยการขยายความร่วมมือเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ อาทิ เขตการค้าเสรีไทย-ยุโรป และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) โดยเฉพาะซีพีทีพีพี ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในสมาชิกซีพีทีพีพี ต้องการให้ไทยเข้าร่วม โดยระบุว่าหากไทยไม่เข้าร่วมซีพีทีพีพี จะทำให้ความสามารถในการดึงดูดการลงทุนของไทยลดลง และอาจทำให้มีธุรกิจบางส่วนของญี่ปุ่นย้ายไปลงทุนประเทศอื่นที่เป็นสมาชิกซีพีทีพีพีด้วย

…………………………