‘มัลลิกา’ยัน ประกันรายได้ ช่วยเกษตรกรมากกว่า 7 ล้านครัวเรือน

‘มัลลิกา’ยัน ประกันรายได้ ช่วยเกษตรกรมากกว่า 7 ล้านครัวเรือน เผย’จุรินทร์’มุ่งยกระดับราคาพืชผล

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งเดินหน้านโยบายประกันรายได้เกษตรกร ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์ม ยางพารา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ควบคู่กับมาตรการเสริมช่วยเหลือพืชเกษตรชนิดอื่นๆ ถ้าพืชผลการเกษตรตัวไหนราคาตกอย่างน้อยรัฐบาลชุดนี้ก็มีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรในพืชเกษตร 5 ตัว 1.ประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุม ข้าวหอมนอกพื้นที่ ข้าวเหนียว ข้าวเปลือกจ้าว 2.ประกันรายได้ ผู้ปลูกมันสำปะหลัง กิโลกรัมละ 2.50 บาท 3.ประกันรายได้ยางพารา ยางแผ่นดิบชั้น 3 กิโลกรัมละ 60 บาท น้ำยางข้น 57 บาท ยางก้อนถ้วยกิโลกรัมละ 23 บาท 4.ประกันรายได้ปาล์ม กิโลกรัมละ 4 บาท และ 5.ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กิโลกรัมละ 8.50 บาท

” โดยขอแจ้งว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเพิ่มเติมช่วยประกันรายได้ให้กับผู้ปลูกข้าวโพดย้อนหลังสำหรับผู้ที่ปลูกในเดือนมิถุนายนปี 2562 ให้มีสิทธิ์ได้รับเงินส่วนต่างจากนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดไปพร้อมกันด้วย และในรอบการผลิตที่ผ่านมาโครงการประกันรายได้เกษตรกรช่วยประชาชนได้กว่า 7.2 ล้านครัวเรือน ขณะนี้เกษตรกรและสมาคมด้านการเกษตรต่างๆที่เกี่ยวข้องยืนยันต้องการเดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรต่อไป” นางมัลลิกา กล่าว

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ล่าสุดมีมติให้ดำเนินนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวต่อไป รวมทั้งมีมาตรการเสริมจ่ายค่าบริหารและปรับปรุงคุณภาพข้าว ตามที่นายจุรินทร์และกระทรวงพาณิชย์เสนอจ่าย รวดเดียว 1,000 บาท/ต่อไร่ รายละไม่เกิน 20 ไร่ ดังนั้นเกษตรกรจะได้รับสูงสุด 20 ไร่เป็นเงินก้อนสูงสุด 20,000 บาท ไม่ว่าจะเจอน้ำท่วมภัยแล้งหรือจะมีหรือไม่มีผลผลิตมาแสดงก็ตาม ถือว่าจะได้หมด

ด้านยางพารา ในฤดูกาลผลิตถัดจากนี้ไปมีมติของคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.) ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำเสนอเข้าที่ประชุมมีมติที่ให้ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางต่อไป พร้อมใช้มาตรการเสริมเพิ่มเติม ให้ช่วยผู้ประกอบการธุรกิจไม้ยางด้วยโดยให้วงเงินกู้พิเศษ 20,000 ล้านบาท แล้วรัฐบาลจะช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ส่วนด้านผลิตภัณฑ์ยางแห้งมีวงเงินกู้ให้อีก 20,000 ล้านบาทเช่นกัน โดยช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 นอกจากนั้นมอบหมายให้ไปศึกษาเพิ่มเติมว่าสำหรับธุรกิจน้ำยางข้นที่จะนำไปผลิตถุงมือยางที่ต้องส่งเสริมมากจะช่วยให้วงเงินกู้ได้มากหรือน้อยเพียงใด

สำหรับพืชอีก 3 ชนิด ระหว่างนี้ยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินโครงการและเมื่อครบแล้วก็จะต้องนำเข้าคณะกรรมการบริหารของแต่ละชนิดพืชก่อนเข้าคณะรัฐมนตรีต่อไปตามแนวทางที่รัฐบาลให้นโยบายเดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกร

“ขณะเดียวกันก็จะจัดการด้านตลาดส่งออกตามแผนที่วางไว้แม้จะอยู่ในสถานการณ์โควิด-19กันทั้งโลกก็ตาม แต่ทุกชีวิตในโลกต้องกินต้องอยู่ต้องใช้ชีวิต ดังนั้นเมื่อปรับยุทธศาสตร์การค้าการขาย ได้เร็วกว่าคนอื่นซึ่งรองนายกฯจุรินทร์ทำแล้วและทำได้ดีทั้งนี้เพื่อยกระดับราคาพืชผลการเกษตรทุกชนิด เพราะถ้าราคาพืชเกษตรสูงขึ้นได้กว่านี้ก็จะลดภาระงบประมาณลงได้”นางมัลลิกากล่าว