‘คณบดีสื่อสารการเมือง’ ชี้ ‘ไลฟ์โค้ชไทย’ เน้นคำหรู สร้างประวัติตัวเอง ไขปม ‘ฌอน’ ล้ำเส้นเลือกข้างเต็มตัว

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงกรณีกระแสวิพาษ์วิจารณ์ไลฟ์โค้ชชื่อดัง ฌอน บูรณะหิรัญ ซึ่งล่าสุดมีการแจ้งความดำเนินคดีจากกรณีเปิดรับบริจาคช่วยเหลือวิกฤตไฟป่าที่จังหวัดเชียงใหม่

รศ.ดร.นันทนากล่าวว่า ไลฟ์โค้ชคือคนที่มีศาสตร์แห่งการนำพาชีวิตผู้คนไปสู่สิ่งที่ดีงาม แต่ไลฟ์โค้ชของเมืองไทยเมื่อเริ่มมีชื่อเสียงก็จะมุ่งไปสู่เรื่องของสิ่งที่ตัวเองจะได้ ถึงจุดหนึ่งความเป็นมืออาชีพหายไป แทนที่จะพัฒนาศาสตร์ของตนเองเพื่อสร้างคน กลายเป็นไปหมกมุ่นกับสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้วตนเองจะได้ประโยชน์ ชื่อเสียงจะทำให้ตัวเองได้ผลประโยชน์อะไร แค่ไหน

ถ้าเป็นสิ่งที่กลั่นกรองออกมาจากวิธีคิด ตกผลึกจากการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง แล้วพบว่าใช่ จริง จึงเอามาถ่ายทอด อย่างไรมันก็จริง อย่างไรมันก็คือแก่นสาร แต่ถ้าไม่ได้คิดเอง พยายามที่จะแกะแบบเขามาแล้วก็เดินตามอย่างง่ายๆ ด้วยการมีวาทกรรมหรูๆ แต่ในความเป็นจริงตัวเองก็ไม่ได้คิดอย่างนั้น ตัวเองก็ไม่ได้สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา สุดท้ายมันก็กลวง แล้วคนก็จะรู้ได้ในที่สุด ของแท้มันก็คือของแท้ ของไม่จริง สุดท้ายคนก็รู้ว่ามันเทียม”

“อย่างไลฟ์โค้ชชาวอเมริกัน แอนโทนี รอบบินส์ เขาไปโค้ชทหารให้สามารถยิงปืนแม่น โค้ชให้นักเทนนิส อย่าง อังเดร อากัสซี่ ขึ้นมาเป็นมือหนึ่งของโลกได้ สอนให้คนใช้ชีวิตอย่างกล้าหาญ กล้าเผชิญชีวิต หลุดพ้นจากปัญหาของตัวเอง อย่างนี้เป็นไลฟ์โค้ชของจริง พิสูจน์ได้จากการที่คนเข้าคอร์สของเขาแล้วกลับไปประสบความสำเร็จ แต่ไลฟ์โค้ชของไทยมีลักษณะที่เอาคำหรูๆ หรือสร้างประวัติตัวเองที่มหัศจรรย์ และทำให้คนเชื่อ อันนี้ถ้าถูกขุด ก็รู้แล้วว่าเฟค เพราะไม่ได้มีความลึกซึ้งกับชีวิต ไม่ได้มีหลักการที่จะนำพาผู้คนให้หลุดพ้นจากปัญหาได้จริง ตรงกันข้าม นอกจากจะไม่ได้ช่วย บางทีอาจจะเป็นการทำร้ายเขาด้วย เพราะสุดท้ายเสียเงิน เสียเวลามาแล้วชีวิตเขาแย่ลง” รศ.ดร.นันทนากล่าว

รศ.ดร.นันทนากล่าวว่า การเมืองเป็นเรื่องอ่อนไหว ที่ว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวเพราะการเมืองมีข้างอยู่เสมอ เมื่อเราสื่อสารอะไรออกไปจะมีกลุ่มหนึ่งที่ชอบ กลุ่มหนึ่งที่ไม่ชอบ ด้วยสถานะตรงนี้ เวลาที่เราจะสื่อสารทางการเมือง แปลว่าเรายอมรับแล้วว่าเราจะยืนอยู่ตรงไหน ไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะมีจุดยืนที่ชัดเจน เหมือนกับดารา ศิลปินที่เข้าร่วมกับสีเสื้อในช่วงที่ผ่านมา ก็รับรู้แล้วว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ชอบ นั่นแปลว่า คุณก้าวเข้ามาทางการเมืองแล้วจะยืนอยู่ที่จุดศูนย์รวมของความรักไม่ได้อีกต่อไป คุณเลือกแล้วว่าจะยืนอยู่จุดใดจุดหนึ่ง ก็ต้องรับผิดชอบ เพราะสังคมรับรู้และกลายเป็นภาพจำไปแล้ว ดังนั้น หากไม่อยากจะเข้ามาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ก็เดินในทิศทางที่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นผลประโยชน์ทางการเมือง เดินบนทิศทางของคุณต่อไป ถ้าฌอนไม่ยุ่งเรื่องลุงป้อมก็อาจจะเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้ต่อไปยาวๆ แต่พอเขาก้าวเข้ามา มันเป็นก้าวที่พลาดเพราะคนที่เขาเลือกพูดถึงมีสถานะที่สำคัญมาก เป็นคนที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

“ดูอย่างโน้ต อุดม แต้พานิช เขาก็แตะการเมืองนะ แต่แตะด้วยอารมณ์ขัน เป็นการเสียดสี ประชดประชัน ซึ่งเป็นไปอย่างสอดคล้องกับอารมณ์ของสังคม ไม่ได้ใช้เครดิตของเขามาสร้างภาพลักษณ์ให้กับใคร แต่มุมที่ฌอนพูด ชัดเจนนะคะ ว่าพยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ให้กับลุงป้อม ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ ถ้ามองในแง่ของการสื่อสารทางการเมือง ก็ต้องบอกว่า ฌอนล้ำเส้นชนิดที่มีข้างเต็มตัว การพยายามที่จะพูดถึงสื่อ ว่าอย่าตัดสินใครจนกว่าตัวเราเองจะได้สัมผัสตัวตนที่แท้จริง คือการให้เครดิต 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสิ่งที่เขาพูดขัดแย้งกับความเป็นจริง บุคคลสาธารณะไม่มีใครเข้าถึงได้ จนถึงวันนี้หลายคนก็ยังไม่เคยเจอ ครม.ชุดนี้ตัวเป็นๆ บุคคลสาธารณะเราเห็นเขาผ่านสื่อก็ต้องตัดสินเขาผ่านสื่อนั่นแหละ แต่ฌอนกำลังจะบอกว่าสื่อมีวาระซ่อนเร้น ผู้รับสารควรจะมีความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งวิธีการพูดแบบนี้ดูถูกตัวตนของผู้รับสารประมาณว่า ไม่มีวิจารณญาณ เมื่อดูคลิปแล้วจึงมีความรู้สึกว่า ฌอนรับงานอีเวนต์ที่มีของแถมพ่วง แล้วเขาอาจจะคิดว่านิดหน่อยเอง แค่พูดไม่กี่ประโยค แต่มันทำลายทั้งชีวิตได้เหมือนกัน” รศ.ดร.นันทนากล่าว