‘วรวัจน์’ สิ้นหวัง ซัดรัฐบาลทำงบฯปี 64 เศรษฐกิจยุค “ขโมยชุดนักเรียน” แนะทางรอด 10 ประการ

วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รับสิ้นหวัง ซัดรัฐบาลทำงบฯ ปี 64 แนะทางรอด 10 ประการ เศรษฐกิจยุค “ขโมยชุดนักเรียน”

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรองประธานกรรมาธิการงบประมาณ โพสต์เฟซบุ๊กถึงการจัดงบประมาณแผ่นดินว่า

เศรษฐกิจยุค “ขโมยชุดนักเรียน” กับการจัดงบประมาณแผ่นดิน ครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย พ่อแม่ที่กำลังมีลูกที่กำลังเรียนหนังสือ หลายคนคงเศร้ามาก เหมือนๆกัน เมื่อเห็นข่าว แม่ต้องขโมยชุดนักเรียน เพื่อให้ลูกไปโรงเรียน

https://www.facebook.com/Support.Woravat.Auapinyakul/photos/a.731499230217679/3402924666408442/?type=3

วันนี้ในภาวะของประเทศเป็นแบบนี้ ทุกคนต่างคิดว่ามันเป็นฝันที่ร้ายมาก ที่พวกเราตอนนี้ ก็ยังนึกไม่ออกว่า แล้วเราจะผ่านฝันร้ายนี้กันไปได้อย่างไร

วันนี้..เมื่อส่งออก หยุดชะงัก นักท่องเที่ยวหดหาย โรงงานอุตสาหกรรมปิดตัว สินค้าเกษตรตกต่ำมาก ธุรกิจทยอยปิดกิจการ ประชาชนไม่มีรายได้ คนตกงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาชญากรรมเริ่มทวีตัวสูงขึ้นๆ

“แม่” ต้องขโมยชุดนักเรียนเพื่อให้ลูกไปโรงเรียน

วันนี้..ประชาชน คนไทยทุกคนต่างก็ดิ้นรนคิดว่า แล้วเราจะผ่านปีเศรษฐกิจ แบบนี้กันได้อย่างไร

เมื่อเห็นการจัดทำงบประมาณปี 64 ของรัฐบาล ก็รู้แล้วว่าความหวังเครื่องยนต์ที่อัดฉีดเศรษฐกิจเครื่องสุดท้ายของประเทศก็ได้ดับลง

ปี 2563 นี้ เป็นปีที่รัฐบาลของประเทศไทยมีงบประมาณใช้มากที่สุดคือ งบ 63 จำนวน 3.2 ล้านล้าน งบเงินกู้จำนวน 1.9 ล้านล้าน งบ 64 จำนวน 3.3 ล้านล้าน เงินทุนสำรองจ่าย 2.5 หมื่นล้าน รวมเบ็ดเสร็จก็ 8.425 ล้านล้านบาทมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

แต่..เป็นปีที่ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยมากที่สุด คนรวย..รวยจนล้นฟ้า คนจน..จนต้องฆ่าตัวตาย

ปัจจุบันประชาชนล้วงไปในกระเป๋าก็พบว่า “ตังหมด”แล้ว หนี้ครัวเรือน เกือบทุกบ้าน เป็น“หนี้ท่วมท้น”

ทำไมเหตุการณ์นี้จึงเกิดขึ้นกับประเทศไทยและเกิดผลกระทบกับคนไทยทุกคน

เมื่อดูรูปแบบการจัดทำงบประมาณ 2564 แล้วก็พบว่าลักษณะการจัดทำงบประมาณก็เหมือนการจัดทำงบประมาณแบบปกติ ก่อนเกิดเหตุการณ์ระบาดของไวรัสโควิดที่ทำให้เกิดผลกระทบไปทั่วโลก

สถานการณ์หลังการระบาดของโควิดนั้น เศรษฐกิจโลกทุกด้านเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การบริหารประเทศชาติ จะทำแบบเดิมไม่ได้ การบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดินหรือการบริหารประเทศ
ควรจำเป็นต้องมีการแก้ไข

ประการที่ 1 ควรต้องจัดสรรงบประมาณแผ่นดินของประเทศใหม่ ลดทอนงบประมาณ ที่ฟุ่มเฟือย มีประโยชน์น้อย เพิ่มงบประมาณในส่วนที่จะก่อให้เกิดรายได้แก่ประชาชนมากขึ้น ไม่ควรกระจุกตัวของงบประมาณไว้ที่ราชการส่วนกลางมากจนเกินไป เช่น การก่อสร้างอาคาร การซื้อรถยนต์ การซื้อเฮลิคอปเตอร์ หรือแม้แต่การตัดสินใจจะซื้อโดยราชการส่วนกลาง ทั้งที่มิได้เป็นความต้องการของประชาชนในแต่ละจังหวัดเลย อย่าลืมว่างบประมาณนี้เกิดขึ้นจากการจัดเก็บภาษีอากรมาจากประชาชน

ประการที่ 2 ควรจัดงบประมาณเพื่อการพัฒนาตามฐานทรัพยากรของประเทศในแต่ละจังหวัด ไม่ใช่จัดสรรงบประมาณตามคำสั่งจากส่วนกลาง ควรจัดสรรงบประมาณเพื่อให้มีการพัฒนาตามทรัพยากรธรรมชาติ ของแต่ละจังหวัด การจัดสรรงบประมาณ ที่แตกต่างตามสภาพของพื้นที่ ของจังหวัดที่สภาพเป็นภูเขาหรือพื้นที่ทะเล เพื่อทำท่องเที่ยวหรือ ประมงหรือพื้นที่ราบ ที่ทำการเกษตรหรือเพาะปลูก เราต้องจัดให้มีการ ส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยวตามสภาพของวัฒนธรรมประเพณี ของท้องถิ่น ไม่ใช่จัดงบประมาณหว่านไปหมด แบบไม่มีเป้าหมาย แบบนี้

ประการที่ 3 ควรต้องจัดงบประมาณเพื่อพัฒนาหลักสูตรการศึกษาใหม่ ตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกและตามทักษะความเชี่ยวชาญของผู้เรียน และที่สอดคล้องกับทรัพยากรของจังหวัดที่มีอยู่การจัดหลักสูตรการศึกษาโดยส่วนกลางเพื่อใช้สำหรับทุก โรงเรียนในทุกจังหวัดนั้นไม่สามารถ ดำเนินการได้อีกต่อไป และในสถานการณ์ที่เทคโนโลยีระดับโลก มีการเปลี่ยนแปลงไป

ทั้งปัญญาประดิษฐ์ การซื้อขาย ท่องเที่ยวในโลกเสมือนจริง และIOT จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องจัดซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือแทบเลท ให้กับนักเรียนได้แล้ว เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตนเองให้ทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลก และในสถานการณ์เช่นนี้ประชาชนทุกคนในประเทศควรต้องได้รับโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองใหม่ในทุกด้านตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ประการที่ 4 ต้องอัดฉีดงบประมาณลงให้ท้องถิ่นมีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง อย่างมากที่สุด รัฐบาลต้องเชื่อมั่นในประชาชน ว่าทุกคนรักและอยากพัฒนาท้องถิ่น ของตนเอง ไม่น้อยกว่ารัฐบาล ลดกฏระเบียบและการครอบงำ ที่ควบคุมท้องถิ่น จนทำงานไม่ได้ลงบ้าง รัฐบาลต้องอัดฉีดงบประมาณให้ท้องถิ่นมีงบประมาณในการบริหารตนเอง ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแบบนี้ อย่างน้อยอบต.ละขั้นต่ำ 50-500 ล้านบาท เทศบาลตำบลขั้นต่ำ 100-700 ล้านบาท เทศบาลเมืองขั้นต่ำ 500-1,000 ล้านบาท

เทศบาลนครขั้นต่ำ 1,000-7,000 ล้านบาท องค์การบริหารส่วนจังหวัด ขั้นต่ำ 1,000-10,000 ล้านบาท เมืองพัทยา เมืองท่องเที่ยวสำคัญ ขั้นต่ำ 50,000 ล้านบาท กทม.ขั้นต่ำ 100,000 ล้านบาทต่อปี

โดยเฉพาะจังหวัดที่มีฐานท่องเที่ยวอย่างจังหวัดภูเก็ตหรือสมุย ชลบุรี เชียงใหม่ก็ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

ทั้งหมดนี้จะต้องจัดสรรบนฐานศักยภาพของเศรษฐกิจและชุมชนของประเทศ โดยคำนึงถึง เศรษฐกิจ ด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ด้านการท่องเที่ยว ด้านการค้าและการส่งออก และปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบประมาณจาก การจัดสรรให้เฉพาะหน่วยงานของรัฐให้เป็นรูปแบบใหม่โดยการอุดหนุนผ่านหน่วยงานเอกชนได้เช่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาเกษตรกร สภาSMEs สภาองค์กรชุมชน ฯลฯ

ประการที่ 5 ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรที่ดินให้กับประชาชน เพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบที่ครบองค์ประกอบคือมีแหล่งน้ำมีระบบสาธารณูปโภค พื้นฐาน ถนน ไฟฟ้า ระบบอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่แต่เพียงให้ใช้ที่ดินแต่ไม่มีการพัฒนาครบวงจรให้ ประเทศจำต้องมีพื้นที่เพื่อการพัฒนา มิใช่พื้นที่รกร้างว่างเปล่า ยิ่งส่งเสริมให้มีการพัฒนามาก ขึ้นเท่าไหร่รัฐ ก็จะจัดเก็บภาษีได้มากตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่การรีดภาษี จากทรัพย์สินของประชาชน

ประการที่ 6 การจะพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ รัฐ ควร ตั้งศูนย์เครื่องจักรกลทางการเกษตร พร้อมอุปกรณ์เทคโนโลยี สมัยใหม่ให้ กับแต่ละจังหวัดด้วย มิใช่มีแต่แนวคิดแต่ไม่ได้ดำเนินการ ให้ตรงเป้าหมาย อย่างแท้จริง

ประการที่ 7 ต้องสนับสนุนให้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ถึงระดับ เทคโนโลยี?ปัญญาประดิษฐ์(AI) AR -VR -IOT โดยคนไทยเพื่อให้ประชาชนใช้งาน และเพื่อไม่ให้ ภาคธุรกิจจากต่างประเทศ เอารัด เอาเปรียบและก่อให้เกิดการครอบงำทางเศรษฐกิจแก่คนไทย

ประการที่ 8 เพิ่มปริมาณเม็ดเงินในระบบ โดยการสร้างเครือข่าย ทางการเงิน ให้แก่ระบบสหกรณ์ ระบบกองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้เกษตรกรและประชาชน เข้าถึงแหล่งเงินที่บริหารโดยประชาชนไม่ใช่ให้ทุนใหญ่ ครอบงำภาวะการเงินของประชาชน เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ประการที่ 9 ต้องบริหารจัดการกองทุน จากเม็ดเงินของประชาชน ที่มีอยู่ให้ ในขณะนี้ให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่าสร้างประโยชน์ให้แก่นายทุนขนาดใหญ่ เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนกบข. เป็นต้น

ประการที่ 10 นำเงินนอกงบประมาณทั้ง 8.5 ล้านล้านบาท เข้าสู่ระบบงบประมาณแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 140 เพื่อมิให้งบประมาณ แผ่นดินรั่วไหล โดยไม่มีการตรวจสอบจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เพื่อไม่ให้มีการเบียดบังเอาเงินรายได้แผ่นดิน นอกเหนือจากการจัดเก็บตามรูปแบบตามระบบภาษีเดิม ไปใช้ในเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและเป็นการลดภาระการกู้หนี้สาธารณะ ของประเทศด้วย

ถ้ารัฐบาลยอมรับฟังความเห็นและเข้าใจประชาชน “คนไทย” ก็จะสามารถผ่านฝันร้ายนี้ไปด้วยกันได้ ไม่เช่นนั้น การสร้าง”หนี้” ก็จะเป็นตราบาปแก่แผ่นดินสืบไป