‘ปิยบุตร’ เตือน ‘รัฐบาล’ ยันไม่มีความจำเป็นใดเหลืออยู่ ในการคงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

‘ปิยบุตร’ เตือน ‘รัฐบาล’ ยันไม่มีความจำเป็นใดเหลืออยู่ ในการคงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า แสดงความเห็นเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดย ระบุว่า ไม่มีความจำเป็นใดหลงเหลือ ในการคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

วันนี้คณะรัฐมนตรีมีมติต่อเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 30 มิ.ย. นี้ ออกไปอีก 1 เดือน จนถึงวันที่ 31 ก.ค.

แต่ในปัจจุบันประเทศไทยไม่มีตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่ในประเทศติดต่อกันมานานกว่า 34 วันแล้ว ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ มีการคลายล็อกหลายเฟส ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร โรงเรียน สถานบันเทิง ผับ บาร์​ ก็เริ่มกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง แล้วเหตุใดคณะรัฐมนตรียังมีมติขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน?

ผลของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคือการรวบอำนาจทั้งหมดไปที่นายกรัฐมนตรี และหลายครั้งหลานหนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินอาจไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำใดๆ เลย จึงเป็นการเปิดโอกาสให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพ แต่บางช่วงบางตอนมนุษย์ยอมให้รัฐออกมาตรการมาบังคับตนเองได้ เพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญของวิกฤตการณ์ จึงยอมให้รัฐใช้อำนาจพิเศษเข้ามาแก้ไขวิกฤตปัญหา

อย่างไรก็ตาม เวลาจะประเมินว่าสถานการณ์ใดฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน ต้องพิจารณา ณ ช่วงเวลาต่างๆ กันว่าข้อเท็จจริงตอนนั้นฉุกเฉินจำเป็นหรือไม่อย่างไร?

ณ วันนี้ข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าสถานการณ์โควิด-19ในประเทศไทยดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่มีประเทศไหนในโลกที่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นและมีตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่ในประเทศเป็นศูนย์ติดต่อกันนานกว่าหนึ่งเดือน แล้วยังคงสถานการณ์ฉุกเฉินเอาไว้ รัฐบาลเองก็มีเครื่องมือทางกฎหมายและ พ.ร.บ. อีกหลายฉบับที่สามารถนำมาใช้ป้องกันโควิด-19 ได้ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนใดๆ หลงเหลืออีกต่อไปที่จะให้คณะรัฐมนตรีคงสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ต่อไป

คำถามคือ เมื่อไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว จะยังคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ทำไม?

สถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้มีไว้อำนวยความสะดวกแก่รัฐบาลในการใช้อำนาจ

สถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้มีไว้สนองตัณหาหรือความมักง่ายของรัฐบาล วันไหนอยากออกกฎก็ออก พรุ่งนี้อยากแก้ก็แก้

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่สามารถประกาศแบบเผื่อเหลือเผื่อขาด อยากใช้เมื่อไหร่ก็ใช้

นี่เป็นเรื่องของการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือการใช้อำนาจโดยบิดผัน (Abuse of power) หมายความว่ามีกฎหมายให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่หรือรัฐบาล แต่กลับใช้อำนาจไปเพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย

จนตอนนี้เริ่มเกิดคำถามว่าเมื่อเข้าสู่เดือนที่สี่ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้มีไว้เพื่อจัดการกับโควิด-19 แต่นี่คือการฉวยโอกาสใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมคนมิให้ออกมาแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ออกมาแสดงออกเพื่อต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

หากเป็นเช่นนั้นจริงนี่คือ “การใช้อำนาจโดยบิดผัน” เพราะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในนามของการรักษาโรค ในนามของการป้องกันโรคระบาด แต่เอาเข้าจริงต้องการควบคุมการชุมนุมและการแสดงออก สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกมาเพื่อต้องการควบคุมโรคหรือควบคุมคนกันแน่?

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งล่าสุดนี้ เป็นครั้งที่ 3 แล้ว นับตั้งแต่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 รวมกันแล้วประชาชนคนไทยทั้งประเทศต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเป็นเวลายาวนานกว่า 4 เดือนเศษ

อย่ายอมให้รัฐบาลชุดนี้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อปี 2557 คสช. ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ และมีรัฐธรรมนูญ 60 มาสืบทอดอำนาจต่อ มาวันนี้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์กำลังก่อ “รัฐประหารโควิด” หรืออย่างที่สื่อญี่ปุ่นกำลังเรียกว่านี่คือ “รัฐประหารทางสาธารณสุข” ให้ได้รักษาอำนาจของตนเองต่อไป นี่คือการบิดเบือนความจริงเอาเรื่องสุขภาพมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน อ้างเรื่องสุขภาพเพื่อรวบอำนาจไว้ให้ตนเองแต่เพียงผู้เดียว และอ้างเรื่องสุขภาพเพื่อเอามาใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามคนที่เห็นแตกต่างจากรัฐบาล

อย่ายอมให้ความผิดปกติเป็นความปกติ

อย่ายอมให้พวกเขาสถาปนาสถานการณ์ฉุกเฉินให้กลายเป็นเรื่องถาวร

อย่ายอมให้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อ

อย่ายอมให้เขารัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า