เตือนหุ้นไทยเสี่ยงขาลงหนี้ครัวเรือนสูง | นักลงทุนลดเสี่ยงดันซื้อขายอาคารคึกคัก | ลงทุนอีอีซี 5 เดือนวูบ 10% จากโควิด

แฟ้มข่าว

เตือนหุ้นไทยเสี่ยงขาลงหนี้ครัวเรือนสูง

น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสปรับตัวลงตามทิศทางตลาดโลก หลังนักลงทุนกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบสองในสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น ประกอบกับราคาน้ำมันดิบดับเบิลยูทีไอ ลดลง 8.3% กดดันตลาด และสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยที่อยู่ในระดับสูงแตะ 79% ของจีดีพี กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ จึงคาดการณ์กรอบดัชนีเคลื่อนไหวจะอยู่ในระดับ 1,340-1,390 จุด ขณะที่ปัจจัยบวก อาทิ การคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์จากมอร์แกน สแตนลีย์ ที่มีความมั่นใจเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวในลักษณะวี-เชฟ และคาดว่าภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ระดับเดียวกันกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

พณ.ลั่นระฆังลดรับเปิดเทอม 80%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เปิดเผยภายหลังลั่นระฆังเปิดโครงการ พาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชน Lot 5 Back to school บุกทุกโรงเรียน ว่า กระทรวงได้สานต่อโครงการพาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชนในล็อตที่ 5 โดยร่วมกับผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้าปลีก 20 ราย ลดราคาสินค้าเพื่อรับเปิดเทอมในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยลดสินค้าสูงสุดถึง 80% ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน-15 กรกฎาคม 2563 รวมทั้งสิ้น 1,605 รายการ เพื่อสนองต่อความต้องการตั้งแต่นักเรียนชั้นอนุบาลไปถึงชั้นประถมและถึงชั้นมัธยมปลาย โดยคาดว่าโครงการนี้จะช่วยนักเรียนไม่น้อยกว่า 10.7 ล้านคนทั่วประเทศ ลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้ปกครองได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

นักลงทุนลดเสี่ยงดันซื้อขายอาคารคึกคัก

นายทิม แกรแฮม ผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษากลยุทธ์การลงทุน เจแอลแอล เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ เอเชียแปซิฟิกมีการลงทุนซื้อขายอาคารรวมมูลค่าทั้งสิ้น 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยอสังหาริมทรัพย์ที่มีการลงทุนซื้อขายลดลงมากที่สุด คือ ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และโรงแรม ส่วนอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้น คือ อสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มโลจิสติกส์ (โกดังและศูนย์กระจายสินค้า) โดยปรับเพิ่มขึ้น 9% และจากการที่ในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาก พันธบัตรให้ผลตอบแทนติดลบ และตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง การลงทุนซื้ออาคารจึงเป็นทางเลือกที่มีความน่าสนใจมาก เพราะนักลงทุนต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่พร้อมสร้างรายได้และมีความผันผวนต่ำ โดยคาดว่ามูลค่าการลงทุนจะปรับตัวสูงขึ้นหลังจากนี้ต่อไป

อีสานเปิดตัวเที่ยววิถีใหม่หลังโควิด

นายนิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงได้ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยควบคู่มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้เปิดตัวโครงการ Amazing Thailand Safety & Health Administration (SHA) มีผู้ประกอบการ 10 ประเภทกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมาลงทะเบียนเข้าโครงการ และร่วมกับกระทรวงการคลังออกมาตรการเที่ยวปันสุข เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ส่วนกิจกรรมชวนพักรักสุขภาพกับนักรบเสื้อขาวฮีโร่กู้วิกฤตที่ผ่านไปแล้วนั้น เป็นการร่วมมือกันของ ททท.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับสมาคมการค้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีสานและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในภาคอีสาน 20 จังหวัด เพื่อให้เป็นแบบอย่างการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่หลังวิกฤตโควิด-19 อีกด้วย โดยจะใช้ชื่อว่า Isan Wellness Tourism เริ่มที่เส้นทางอุดรธานี-ขอนแก่น-บุรีรัมย์ เป็นเส้นทางแรก

ลงทุนอีอีซี 5 เดือนวูบ 10% จากโควิด

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยถึงผลการประชุม กพอ.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า กพอ.มอบให้ สกพอ.และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์การลงทุนจูงใจนักลงทุนมากใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอส-เคิร์ฟ) ล่าสุดบีโอไอ รายงานภาวะการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ระยะ 5 เดือนแรกของปีนี้ หรือตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม มูลค่าคำขอ 74,151 ล้านบาท คิดเป็น 67% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ ลดลงประมาณ 10% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 นอกจากนี้ ยืนยันว่ายังไม่ปรับการลงทุนรวมในพื้นที่อีอีซีปีละ 3 แสนล้านบาท คาดว่ากลุ่มนักลงทุนย้ายฐานการผลิตออกจากจีนจะมีมากขึ้น ซึ่ง สกพอ.จะเร่งทำงานในช่วงที่เหลือของปี เชื่อว่าภาพรวมไตรมาส 3-4 น่าจะปรับตัวดีขึ้นได้

สสว.ช่วยกลุ่มหนี้เสีย-ไม่ถึงสินเชื่อ

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ผ่านการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือภายหลังยื่นขอวงเงินจัดตั้งกองทุน 5 หมื่นล้านบาทจากงบประมาณเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาทจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ว่า ขณะนี้ต้องอยู่ที่การพิจารณาจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าจะมีความชัดเจนในรายละเอียดภายในเดือนกรกฎาคมนี้เพื่อเร่งนำเงินมาปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเอสเอ็มอีโดยเร็ว เบื้องต้น สสว.จะตั้งกองทุน 2 กอง คือ 1.กองทุนเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ให้กลับมาประกอบธุรกิจต่อได้

และ 2.กองทุนเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่อยู่ในกลุ่มชายขอบ คือ ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือซอฟต์โลน วงเงิน 5 แสนล้านบาทได้ จากคุณสมบัติที่ไม่ตรงกับหลักเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่