อธิการบดี มธ.ร่อนจม.ค้านเกณฑ์ขอ ‘ศ.-รศ.-ผศ.’ จี้ รมว.อว.เลื่อนใช้ 3 ปี ช่วย ‘อ.’

อธิการบดี มธ.ร่อนจม.ค้านเกณฑ์ขอ ‘ศ.-รศ.-ผศ.’ จี้ รมว.อว.เลื่อนใช้ 3 ปี ช่วย ‘อ.’

ตำแหน่งวิชาการ – เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ลงนามในหนังสือ ที่ อว.67/212 เรื่องขอคัดค้านประกาศ ก.พ.อ.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) รองศาสตราจารย์ (รศ.) และศาสตราจารย์ (ศ.) พ.ศ.2563 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า เนื่องจาก มธ.เล็งเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดจากการประกาศ ก.พ.อ.ฉบับดังกล่าว ดังนี้ 1.ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับวันที่ 24 มิถุนายน 2563 โดยไม่มีบทเฉพาะกาลที่กำหนดระยะเวลาให้คณาจารย์สามารถเตรียมตัวจัดทำผลงาน และวางแผนในการยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ จึงเกิดผลกระทบกับคณาจารย์ที่เตรียมตัวยื่นขอตำแหน่งวิชาการในเกณฑ์เดิมได้รับความเดือดร้อน 2.การกำหนดหลักเกณฑ์จำนวน และระดับคุณภาพผลงานทางวิชาการในการขอตำแหน่งทางวิชาการที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม ด้วยการเพิ่มจำนวน และระดับคุณภาพผลงานมากกว่าเดิมนั้น ทำให้ลดแรงจูงใจในการยื่นเสนอขอตำแหน่งวิชาการ และเป็นอุปสรรคในการพัฒนาคณาจารย์ให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ

หนังสือระบุอีกว่า 3.การจำกัดการเผยแพร่ผลงานวิจัยในระดับ รศ.ซึ่งกำหนดว่าการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยต้องอยู่ในวารสารทางวิชาการที่เป็นฐานข้อมูลนานาชาติที่ ก.พ.อ.กำหนด หรือ TCI กลุ่ม 1 เท่านั้น ระดับ ศ.ต้องเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลที่นานาชาติที่ ก.พ.อ.กำหนด ทำให้การเผยแพร่ในที่ประชุมทางวิชาการ ซึ่งมี Proceedings หรือการเผยแพร่ในหนังสือรวมบทความ หรือ monograph หรือรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ไม่สามารถใช้ยื่นขอตำแหน่งอีกต่อไป 4.การยกเลิกสัดส่วนการมีส่วนร่วมที่เป็นร้อยละออกไป และให้ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการระบุบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ โดยให้เป็นดุลยพินิจของผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาตามสถานะของผู้ขอตำแหน่งทางวิชาการ แบ่งเป็น 3 สถานะ คือ ผู้ประพันธ์อันดับแรก ผู้มีส่วนสำคัญทางปัญญา ผู้ประพันธ์บรรณกิจ นั้น จะเห็นว่าไม่ชัดเจน เป็นรูปธรรม เป็นภาระหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิ และอาจเกิดการใช้ดุลยพินิจของผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กระทบต่อการดำเนินงานของผู้ทรงคุณวุฒิ และเสี่ยงต่อการเป็นข้อพิพาทขัดแย้งจนเกิดเป็นคดีความ

หนังสือระบุต่อว่า และ 5.การกำหนดให้การเผยแพร่ผลงานวิจัย จะต้องตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลนานาชาติที่ ก.พ.อ.กำหนดนั้น เป็นความไม่เข้าใจความเป็นจริงของสาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งการเผยแพร่ผลงานบางสาขาวิชามีข้อจำกัด คือ ผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพในสาขาดังกล่าว อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลในระดับนานาชาติที่ ก.พ.อ.กำหนด

“ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงขอเสนอแนวทางการแก้ปัญหาทั้ง 5 ข้อ ดังนี้ 1.ข้อเสนอแร่งด่วนที่สุด คือเห็นควรชะลอการบังคับใช้ประกาศดังกล่าว โดยให้แก้ไขบทเฉพาะกาล ขยายระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้คณาจารย์ได้มีโอกาสเตรียมตัว และวางแผนในการยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการได้ 2.ข้อเสนอเร่งด่วนมาก คือ เห็นควรตั้งคณะทำงาน ซึ่งเป็นตัวแทนจากคณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เพื่อพิจารณายกร่าง หรือปรับปรุงจากประกาศ ก.พ.อ. พ.ศ.2560 ฉบับเดิม ที่ใช้อยู่เป็นหลัก โดยให้คณาจารยได้รับรู้โดยทั่วไป และด้รับการยอมรับจากคณาจารย์ก่อนบังคับใช้จริง มธ.จึงขอคัดค้านประกาศ ก.พ.อ.เรื่องหลักเกณฑ์ดังกล่าว” หนังสือระบุ


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่