“คณะก้าวหน้า” พบเกษตรกรนมแพะชายแดนใต้ ผลักดันอุตสาหกรรมผลิตใหญ่สุดในไทย

วันที่ 28 มิถุนายน 2563 พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า พบเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตนมแพะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อพูดคุยและรับฟังความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมกันนี้ได้ตกลงร่วมกันผลักดันให้การผลิตนมแพะในพื้นที่ เป็นอุตสาหกรรมผู้ส่งออกและผู้ผลิตนมแพะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

พรรณิการ์ กล่าวว่า “เราทำงานกับคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่ ก็รู้เลยว่าปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ทำให้เกิดการว่างงาน ซึ่งไม่ใช่ความขัดแย้งในเชิงการใช้กำลังอาวุธเท่านั้น เพราะการที่พื้นที่ขาดการพัฒนา ทำให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สามารถเดินไปทางไหนได้เลย อัตราการศึกษาต่ำ รายได้ต่อครัวเรือนต่ำ คนวัยรุ่นว่างงานกันเยอะ ทำให้คนในพื้นที่มีทางเลือกแค่การต้องออกไปทำงานที่มาเลเซีย หรือเข้าร่วมกับขบวนการ จึงกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ซึ่งมองว่าการนำนิคมอุตสาหกรรมมาตั้งโดยไม่เกี่ยวข้องทั้งกับงานและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ย่อมไม่ใช่ทางออก ซึ่งวิถีของชาวบ้านในพื้นที่จำนวนมากที่เป็นชาวมุสลิมคือแพะ มีการเลี้ยงแพะ ทั้งแพะนมและแพะเนื้อ ก็มีการพูดคุยกับคนในพื้นที่จนในปัจจุบันได้เริ่มเกิดผลเป็นรูปธรรมคือการได้รวมเครือข่ายของเกษตรกรนมแพะในพื้นที่สามจังหวัด ได้ประมาณ 10 เจ้าที่ผลิตนมแพะอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีตลาดรองรับผลผลิตอย่างเพียงพอ ที่จะสามารถขยายกิจการไปมากกว่านี้ สิ่งที่ทางเราจะทำได้คือการเข้ามาจัดการระบบให้เป็นสมัยใหม่หรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อแปรรูปวัตถุดิบให้มีคุณภาพมากขึ้น และสามารถส่งออกไปได้ไกลขึ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพราะขณะนี้ตลาดนมแพะยังเติบโตได้อีกและเป็นตลาดที่เป็น Blue Ocean การที่จะทำตรงนี้ให้ขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ส่งออกและผู้ผลิตนมแพะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จะทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้ไม่ได้ไกลเกินความฝัน ไม่ใช่แค่สร้างงานให้แค่เกษตรกรนมแพะ จะมีทั้งคนส่งนม เกษตรกรปลูกข้าวโพด จะเป็นการสร้าง Supply chain ในพื้นที่ เกิดรายได้สร้างอาชีพให้คนในชุมชน ซึ่งเราคิดว่าโมเดลเล็กๆอันนี้จะกลายเป็นโมเดลในการพัฒนาพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นำไปสู่การสร้างสันติภาพที่แท้จริงด้วย”

“โดยคณะก้าวหน้าเตรียมผลักดันให้เกิดโรงงานผลิตนมแพะ ที่สามารถสร้างผลผลิตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ให้อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีแนวคิดคือ ให้เกษตรกรร่วมเป็นเจ้าของโรงงานแห่งนี้ด้วยกัน ทั้งการร่วมหุ้นเป็นน้ำนมแพะหรือลงเป็นเงินทุน ซึ่งยืดหยุ่นตามที่เกษตรกรนมแพะแต่ละรายเห็นสมควร ทั้งนี้ หากเป็นในฝ่ายเกษตรกรจะซื้อหุ้นในราคาที่ถูกกว่า และเมื่อโรงงานสามารถเติบโตไปได้แล้วทางคณะก้าวหน้าจะขายหุ้นคืนให้เกษตรกรคนในพื้นที่เป็นเจ้าของทั้งหมด 100%” พรรณิการ์ กล่าว

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่