‘ณัฏฐพล’ ชื่นชมครูทั่วประเทศ ปรับตัว-พัฒนาการสอน รับมือเปิดเทอม 1 ก.ค.

‘ณัฏฐพล’ ชื่นชมครูทั่วประเทศ ปรับตัว-พัฒนาการสอน รับมือเปิดเทอม 1 ก.ค.

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ที่โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เบญจมราชาลัย และวิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยว เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร ว่า จากที่ตนตรวจดูความพร้อมของโรงเรียนเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากใกล้เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ในวันที่ 1 กรกฏาคม พบว่าโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เบญจมราชาลัย ดำเนินการตามมาตรฐานที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด ซึ่งตนได้เห็นการเตรียมความพร้อมของโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นการทำงานของครูที่ได้ทุ่มเท ทั้งนี้ ศธ.เน้นความยืดหยุ่น ให้อำนาจผู้อำนวยการโรงเรียน และครู สามารถดูมาตรฐานความปลอดภัยที่ สธ.กำหนด แล้วนำไปปรับใช้กับบริบทพื้นที่ของตนเอง

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า วันนี้ตนเห็นความพร้อมในทุกๆ ด้าน เรื่องไหนที่ต้องระมัดระวัง เช่นการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ หากติดตั้งแล้วจะมีฝุ่น โรงเรียนสามารถตัดสินใจไม่ติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมในเวลานี้ได้ เพื่อให้เกิดความสะอาด และถูกหลักอนามัย ทั้งนี้ตนกังวลการบริหารจัดการของโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่มีกว่า 5,000แห่ง ที่อาจจะมีปัญหามากว่าโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งตนคาดว่าทางโรงเรียนจะสามารถบริหารจัดการได้ เช่น ให้นักเรียนเข้าเรียนเหลื่อมเวลากัน หรือจัดให้นักเรียนสลับวันมาเรียน เป็นต้น

“ขอชื่นชมครูทั่วทั้งประเทศ ที่ได้ปรับตัวเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป อย่างครูที่มีความสามารถสอนผ่านดิจิทัลอยู่แล้ว ก็พัฒนาตนเองสามารถติดต่อวิดีโอเพื่อเชื่อมต่อกับนักเรียนมากขึ้น นักเรียนก็ต้องปรับตัวเช่นกัน ทั้งนี้ ผมได้เห็นความตั้งใจและความพยายามของครูที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการสอนโดยใช้ระบบดิจิทัล ทำให้มั่นใจว่าครูไทยทั่วประเทศมีความสามารถในการสอนผ่านสื่อดิจิทัล และสื่อออนไลน์ ส่วนจะนำการสอนเหล่านี้ มาผสมผสานกับการสอนในห้องเรียนอย่างไรนั้นโรงเรียนสามารถปรับได้ตามบริบทของพื้นที่” นายณัฏฐพล กล่าว

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า จากการเตรียมความพร้อมครั้งนี้ทำให้โรงเรียนมีความใกล้ชิดกับนักเรียน และผู้ปกครองมากขึ้น ทำให้มีข้อมูลมาใช้ประกอบการตัดสินใจมากขึ้น ทำให้ครูสามารถมองเห็นกลุ่มนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ ซึ่งครูต้องหากวิธีการปรับพื้นฐาน และปรับการเรียนการสอนให้นักเรียนเหล่านี้ แน่นอนว่าภาระจะตกอยู่ที่ครู แต่เชื่อว่าครูพร้อมที่จะยืนเป็นแนวหน้าพัฒนาการศึกษา เช่นเดียวกับบุคลากรสาธารณสุข ที่ได้ทำหน้าที่เป็นหน้าด่านในการเผชิญการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ใน 2-3 เดือนที่ผ่านมา วันนี้ถือเป็นภาระของบุคลากรทางการศึกษาที่จะร่วมผลักดันการศึกษาไทยให้มีความต่อเนื่อง ซึ่งวันนี้เห็นแล้วว่าการเรียนการสอนแบบ New Normal จะทำให้การศึกษาไทยมีความยืดหยุ่น มีโอกาสที่จะขยายผลไปมากกว่าเดิม ซึ่งอาจจะเป็นการเรียนการสอนที่ทำให้นักเรียนมีเวลาหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งนักเรียนจะสามารถนำความรู้นอกห้องเรียนมาใช้ในห้องเรียนได้ น่าจะเป็นมิติใหม่ของการเรียน และสามารถนำวิกฤตนี่มาเป็นโอกาส และขยายผลอย่างจริงจัง ซึ่งถ้าศธ.ไม่ใช้โอกาสนี้มาขยายผลและปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ จะให้เราตกขบวน

“ในส่วนของการเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ในวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งผมมั่นใจในเรื่องการเตรียมความพร้อมของวิทยาลัยในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และโรงเรียนทั่วประเทศ ศธ. สร้างความยืดหยุ่นให้กับผู้อำนวยการในการจัดมาตรการรักษาความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่มีความต้องการที่แตกต่างกันไป ซึ่งผมหวังว่าเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ และในอนาคตหากโควิด-19 มีการแพร่ระบาดระลอกสอง ศธ.มั่นใจสามารถรับมือได้ เพราะได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยที่ครูสามารถสอนผสมผสานทั้งในโรงเรียน ออนแอร์และออนไลน์ได้ “นายณัฏฐพล กล่าว


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่