สมช.แจง เหตุต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน ต้องเฝ้าระวังกิจการล่อแหลม-ป้องกันเชื้อจาก ตปท.

‘สมช.’ เคาะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไป 1 เดือน ครอบคลุมตลอด ก.ค.-คลายล็อกระยะ 5 รับเปิดทุกกิการ 1 ก.ค.นี้ แจงนักธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุนต้องจำเป็น-กระตุ้น ศก. ย้ำไม่รอดตรวจโควิด เข้มมาตรการติดตามตัว

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงผลการประชุม สมช. เพื่อประเมินความเหมาะสมในการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่าที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ออกไปอีก 1 เดือน ครอบคลุมตลอดเดือนกรกฎาคมนี้ โดยเตรียมเสนอเรื่องให้ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาในวันที่ 29 มิถุนายน และให้ ครม.พิจารณาในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ต่อไป เพื่อเตรียมรองรับสำหรับการคลายล็อกกิจการและกิจกรรมในระยะที่ 5 ที่มีความเสี่ยงสูงในการแพร่ระบาดมากที่สุด ศบค.รวมถึงการเปิดการเรียนการสอนในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของการปิดกิจการ เพราะเราให้ความสำคัญกับเด็กและผู้สูงอายุ จากนั้นจึงเริ่มผ่อนคลาย โดยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เมื่อเริ่มผ่อนคลายจะเกิดการรวมตัวกันมากขึ้น ทั้งการเดินทางในระบบสาธารณะที่จะหนาแน่นขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่จะต่อ พ.ร.ก.เพื่อให้มั่นใจว่ากิจการที่มีความล่อแหลมจะได้รับการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีคำถามว่า กฎหมายฉบับอื่นที่จะนำมาใช้มีหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามี แต่ถ้าไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะต้องใช้กฎหมายไม่ต่ำกว่า 5 ฉบับ เพื่อนำมาทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ และก็ไม่มั่นใจว่าจะมีประสิทธิภาพเท่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ เป็นการออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดเหตุการณ์ เป็นการแก้เฉพาะจุด ไม่มีมาตรการอะไรที่จะเป็นมาตรการป้องกันได้ เราจึงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคู่กับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ จึงทำให้เราสามารถวบคุมสถานการณ์มาได้จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ กลยุทธ์ที่สำคัญที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือป้องกันการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ ทั้งชาวต่างชาติ และคนไทยที่จะเดินทางเข้ามา ให้มาอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และทำการค้นหา ตรวจรักษาเชื้อของคนในประเทศที่ทำมาตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ประสิทธิภาพในการควบคุมโรคของเราประสบความสำเร็จ และได้รับการชื่นชมไปทั่วโลก ขณะนี้ก็ไม่พบผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 31 วันแล้ว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าโรคไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ ถ้า ศบค.เห็นชอบผ่อนคลายมาตรการ และ ครม.เห็นชอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

เมื่อถามว่า ฝ่ายการเมืองมองว่าการต่ออายุ พ.ร.ก.เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ในขณะนี้ พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า ยืนยันไม่รู้ครั้งที่เท่าไหร่แล้วว่า วันที่ 25 มีนาคม ที่นายกฯตัดสินใจประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนถึงวันนี้ และอาจจะต่อไปอีก 1 เดือนไม่มีนัยยะทางการเมือง เพราะเราใช้เพื่อการควบคุมโรคเป็นหลัก ยกตัวอย่างเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการชุมนุมอยู่หลายจุด สังเกตว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้มาตรการอะไรไปห้ามปราม ซึ่งการชุมนุมก็มีกฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสามารถใช้ได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อการนี้ และถ้าจะขยายออกไปอีก 1 เดือน ก็เพื่อเหตุผลด้านสาธารณสุข และไม่มีการประกาศเคอร์ฟิวเหมือนเดิม แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มีนัยยะทางการเมืองใดๆ ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ได้รับผลกระทบอะไร

เมื่อถามว่า ถ้าวัดจากความล่อแหลมและความเสี่ยง คิดว่าภายใน 1 เดือนจากนี้ไปจะทำให้ความล่อแหลม หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงหมดไปหรือไม่ พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า ช่วงเวลา 1 เดือน เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่กิจการทุกอย่างจะถูกเปิด เราจึงต้องมั่นใจ และสถานการณ์ทั่วโลกก็ยังมีการแพร่ระบาดอยู่ ขณะที่สถานการณ์ในประเทศก็ยังเป็นห่วงการระบาดในระลอกที่ 2 ที่จะหนักกว่าเดิม เพราะเราทุ่มเททั้งเวลา ทรัพยากรและบุคลากรไปเป็นจำนวนมาก และสิ่งที่ทำมาทั้งหมดจะสูญเปล่า เศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบ จึงต้องมีมาตรการอะไรสักอย่างให้มั่นใจว่าแม้จะระบาดระลอกที่ 2 ก็ยังควบคุมสถานการณ์ได้

เมื่อถามต่อว่า ถ้าสถานการณ์ที่ต่อไปอีก 1 เดือน ถ้าช่วงนี้สถานการณ์ดีขึ้นจะมีโอกาสยกเลิก พ.ร.ก.ก่อนครบ 1 เดือนหรือไม่ พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า โดยปกติการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 มีอายุ 3 เดือนต่อครั้ง แต่เราเลือกประกาศทีละเดือนเพื่อใช้เท่าที่จำเป็น เมื่อถึงเวลาก็จะประเมินว่าควรจะต่อหรือไม่ต่อ ถ้าต่ออย่างมากก็แค่เดือนเดียว และถ้ามีเหตุที่เชื่อได้ว่าจะไม่มีการระบาดในระลอก 2 ก็ยกเลิกได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็สามารถยกระดับความเข้มข้นได้ตลอดเวลา ถ้าพบว่ากิจการ กิจกรรมใดเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 สามรถเพิ่มมาตรการป้องกันหรือปิดกิจการนั้นได้ ซึ่งจุดนี้จะแตกต่างจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่จะปิดได้เป็นจุดๆ เท่านั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งประเทศ

เมื่อถามว่า สนามกีฬาที่ยังไม่เปิดจะต้องพิจารณาอย่างไรต่อ พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า ยังไม่เปิดก็ต้องรอไปก่อน เพราะมีเรื่องของจำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันกีฬา ซึ่งวันนี้อนุญาตให้แข่งขันได้ แต่ต้องชมผ่านการถ่ายทอดสด เพราะไม่ต้องการให้คนไปแออัดในที่เดียวกันเป็นเวลานานๆ และหากเห็นว่าผ่านวันที่ 15 กรกฎาคมไปแล้ว สถานการณ์ดีขึ้น ทุกคนให้ความร่วมมือ ไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อ รวมทั้งสถานการ​ณ์โลก และภูมิภาคดีขึ้น ก็เป็นเหตุผลที่จะพิจารณาให้ปลดได้

เมื่อถามอีกว่า แนวทางประเทศคู่ขนานที่จะมาเที่ยว หรือแทรเวล บับเบิล จะต้องยุติไปเลยหรือไม่ พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า มีการพูดคุยแต่ยังไม่ได้ข้อยุติ และคิดว่ายังไม่สามรถเกิดได้ในเร็วๆ นี้ เพราะต่างชาติที่ติดต่อเข้ามาส่วนใหญ่คือนักธุรกิจที่ขอเข้ามาดำเนินกิจการในประเทศให้เดินหน้าได้ดีขึ้น ส่วนเรื่องการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยว คิดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือนขึ้นไป จึงจะสามารถดำเนินการได้ การจะปล่อยให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาง่ายๆ แบบเดิมคงไม่ได้อีกแล้ว และจะต้องมีมาตรการที่เข้มข้น เช่น กักตัว 14 วัน ต้องมีการตรวจเชื้อโควิดตั้งแต่ประเทศต้นทาง ประเทศไทย ในระหว่างที่อยู่ในประเทศต้องอยู่ในเส้นทาง จะเดินทางไปไหนต้องอยู่ในสายตา มีเจ้าหน้าที่ควบคุม หรือใช้แอพพลิเคชั่นติดตามตัว และก่อนออกจากประเทศอีกครั้ง คือต้องตรวจ 3-4 ครั้ง ขณะที่กลุ่มนักธุรกิจที่จะเข้ามาก็ต้องดูว่ามาจากประเทศไหน เข้ามาแล้วจะส่งเสริมให้ธุรกิจของไทยดีขึ้นหรือไม่ และต้องดูว่ามาจากประเทศต้นทางที่มีความเสี่ยง และเข้ามาในระดับที่เราควบคุมได้ ไม่ใช่รับสะเปะสะปะ เพื่อให้มั่นใจว่าเราไม่ได้เป็นต้นเหตุ หากเขาได้ไปติดเชื้อทีหลังก็ไม่ได้มาจากประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีประเทศไหนที่ติดต่อเข้ามา

เมื่อถามว่า คณะกรรมการชุดไหนจะเป็นผู้พิจารณาว่านักธุรกิจใดจะเข้าได้ เข้าไม่ได้ พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุขจะพิจารณาร่วมกัน รวมถึงกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะต้องหารือกันว่าสมควรรับนักธุรกิจจากประเทศใดเข้ามา ต้องดูทุกมิติ ถ้าเข้ามาแล้วไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญจริงๆ เราคงไม่เอาความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขเข้าไปแลก ถ้าจะแลกต้องเป็นการแลกที่คุ้มค่า แม้จะเข้ามาได้ก็ต้องมีมาตรการที่เข้มข้น ส่วนเรื่องนักท่องเที่ยวในรูปแบบเมดิคอลทัวร์ริสม์นั้น เพื่อเข้ารับการรักษาที่ไม่ใช่โควิด ก็ต้องมีมาตรการถูกกักตัว 14 วัน ในโรงพยาบาล ถ้าต้องการจะไปเที่ยวต่อก็จะมีแพคเกจเสริม ซึ่งจะเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจได้ ก็เป็นแรงดึงดูดให้หลายชาติสนใจที่จะเดินทางมาประเทศไทย

เมื่อถามว่า ต้องจำกัดเที่ยวบินอย่างไร พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า เราบริหารจัดการทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่จะเข้ามา ต้องให้มีจำนวนที่เหมาะสม สามารถควบคุมได้


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่