ภาคประชาชนร้อง ป.ป.ช. สอบบิ๊ก ขรก.ประจวบฯปล่อยลูกจ้างโกง 33.9 ล้าน ใส่บัญชีแม่

เครือข่ายภาคประชาชนร้อง ป.ป.ช.สอบบิ๊ก ขรก.ประจวบฯปล่อยลูกจ้างโกง 33.9 ล้านใส่บัญชีแม่

วันที่ 24 มิถุนายน นายธีรพันธ์ นันทกิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า จากกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดมอบอำนาจให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนที่ สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ดำเนินคดีนางสาวขนิษฐา หอยทอง อายุ 28 ปี พนักงานวิชาการการเงินและบัญชี ลูกจ้างชั่วคราว สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ข้อหายักยอกทรัพย์ ปลอมเอกสารของทางราชการ และใช้เอกสารปลอม หลังพบว่ามีการยักยอกเงินงบประมาณของทางราชการรวม 33.9 ล้าน ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดลาป่วยเดินทางไปผ่าตัดต้อหินที่ กทม.และมอบหมายให้ให้ตนรักษาราชการแทน แต่ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดปัญหาการทุจริตได้ ต้องรอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แถลงข้อเท็จจริงและแนวทางแก้ปัญหาทั้งหมด เนื่องจากการทุจริตมีวงเงินงบประมาณจำนวนมาก และประชาชนให้ความสนใจ โดยมีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงในระดับจังหวัดแล้ว พร้อมสั่งกำชับให้เร่งหาข้อสรุปโดยเร็ว

นายประดิษฐ์ ยมานันท์ ข้าราชการบำนาญชาว อ.บางสะพาน อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก กล่าวว่า การเบิกจ่ายงบประมาณด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์หลายปีที่ผ่านมา มีความเสี่ยงกับปัญหาการทุจริต หัวหน้าสำนักงานจังหวัดจึงควรตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณทุกประเภทอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สำนักงานจังหวัดประจวบฯ มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในเพื่อตรวจสอบหน่วยงานอื่นในระบบราชการบริหารส่วนภูมิภาค เหตุใดไม่ตรวจปัญหาการทุจริตในหน่วยงานต้นสังกัด และเรื่องนี้ผู้ที่เข้าข่ายรับผิดชอบทางละเมิด หลังการสอบสวนทางวินัยควรเป็นเจ้าหน้าที่ในสำนักงานจังหวัด ต้องให้เหตุผลชี้แจงว่าทำหน้าที่อย่างไร ปล่อยให้ลูกจ้างโกงนานเป็นปี ซึ่งขณะที่ตนทำหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกจะเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณเข้ามาตรวจสอบตัวเลขอย่างต่อเนื่อง

จ่าเอกเสกสรรค์ จันทร แกนนำเครือข่ายต่อต้านการทุจริต จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า จะเดินทางไปยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด เพื่อขอทราบผลการสอบข้อเท็จจริงของกรรมการทุกคณะในระดับจังหวัดที่มีการแต่งตั้ง เนื่องจากพบว่าที่ผ่านมาปัญหาการทุจริตหลายครั้ง เช่น มีการปลอมลายมือชื่อรองผู้ว่าราชการจังหวัดรายหนึ่ง เพื่อออกใบอนุญาตปลอมขายให้เจ้าของโรงแรม 10 แห่งที่ อ.หัวหิน และ อ.ปราณบุรี เรื่องดังกล่าวผ่านมานานกว่า 2 ปี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดไม่เคยสรุปข้อเท็จจริงชี้แจงต่อสาธารณะ ไม่เคยชี้แจงความคืบหน้า

“ พบว่าการตั้งกรรมการสอบสวน มีเพียงข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยในระดับจังหวัดสอบกันเอง อาจมีปัญหาในระบบอุปถัมภ์ หรืออาจมีการช่วยเหลือ เนื่องจากไม่มีข้าราชการหน่วยงานอื่นหรือองค์กรอิสระเข้าไปร่วมตรวจสอบ ดังนั้นได้ยื่นเรื่องร้องเรียนถึง ป.ป.ช.จังหวัด กรณีข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติ เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จากความประมาท เลินเล่อ เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหายในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ” จ่าเอกเสกสรรค์ กล่าว

นางรพิพรรณ อ๊อตวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เบื้องต้นได้รายงานข้อเท็จจริงให้ สตง.ภาค 12 และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินรับทราบ ซึ่งดำเนินการในลักษณะดังกล่าวของลูกจ้าง ส่วนตัวยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เกินความคาดหมาย ไม่เคยพบว่ามีจังหวัดใดมีปัญหาในลักษณะนี้มาก่อน และเร็วๆ นี้หากมีการตรวจสอบเพื่อลงลึกในรายะเอียดไม่มั่นใจว่ามูลค่าความเสียหายจะไปตามจำนวนเงินงบประมาณที่ลูกจ้างให้การรับสารภาพหรือไม่ สำหรับการดำเนินการของ สตง.จังหวัดจะต้องรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของหน่วยงานในระดับจังหวัดและหลังจากกระทรวงมหาดไทยตั้งกรรมการสอบวินัยข้าราชการที่มีส่วนรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่เพื่อเอาผิดทางละเมิด ซึ่งมีข้อมูลทราบว่าก่อนหน้านี้ในปี 2562 เจ้าหน้าที่สำนักงานจังหวัด เคยตรวจสอบพบมีการนำเงินงบประมาณกว่า 1.2 ล้านบาท ออกไปใช้จ่ายในลักษณะการหมุนเวียนและนำมาใช้คืนในระบบในภายหลัง สำหรับการทุจริตของลูกจ้างรายดังกล่าวส่วนตัวเชื่อว่า สามารถกระทำความผิดเพียงลำพังจาการเข้าถึงระบบการเบิกจ่าย เป็นการมอบหมายงานของผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ซึ่งอาจจะเข้าข่ายความผิดและจะต้องรับผิดชอบกับวงเงินที่ทางราชการได้รับความเสียหาย


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่