“DRG” ฉายภาพจำลอง “อ่านประกาศคณะราษฎร” รำลึก 88 ปี การอภิวัฒน์สยาม 2475

ที่มาภาพ : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

วันที่ 24 มิถุนายน 2563 เวลาประมาณ 05.20 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ฝั่งโรงเรียนสตรีวิทยา กรุงเทพฯ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือ DRG จัดงาน ‘ลบยังไงก็ไม่ลืม’ รำลึกการอภิวัฒน์สยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หรือเมื่อ 88 ปีก่อน

โดยบรรยากาศตั้งแต่เวลาประมาณ 04.30 น. มีประชาชนเดินทางเข้าร่วมเป็นจำนวนมากโดยยืนรวมตัวกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบตรึงกำลังจำนวนมาก ทั้งบริเวณริมถฝนราชดำเนิน และที่ตั้งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งมีการนำรั้วเหล็กมาติดตั้งล้อมเต็มพื้นที่

จากนั้นเวลาประมาณ 05.00 น. นายอานนท์ นำภา และนางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว พร้อมคณะผู้จัดงานซึ่งส่วนหนึ่งแต่งกายในชุดคล้ายคลึงทหารยุคคณะราษฎรเดินทางมาถึง และมีการพูดคุยกับเจ้าที่ตำรวจซึ่งย้ำให้มีการรักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งให้ผู้จัดงาน สื่อมวลชน และผู้เข้าร่วมงานขึ้นไปอยู่บนทางเดินเท้า

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดงานมีการเจรจาทำควาทเข้าใจว่าต้องใช้พื้นที่ในการกางผ้าขาวเพื่อฉายภาพเคลื่อนไหวที่เรียกว่า ‘เทเลแกรม’ กระทั่งมีประชาชนจำนวนหนึ่งตะโกนว่า ‘เราคือประชาชน’ และมีการโต้เถียงกัน นายอานนท์ นำภาประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดพื้นที่ให้จัดกิจกรรม ซึ่งใช้เวลาเพียงเล็กน้อย การกระทำของเจ้าหน้าที่ในวันนี้จะตอกย้ำว่าตำรวจอยู่ข้างประชาชนหริอเผด็จการ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการโต้เถียงกันชี่วระยะหนึ่ง ต่อมา จึงสามารถกางผ้าขาวได้สำเร็จโดยระหว่างนั้นเกิดฝนตกลงมา แต่กิจกรรมยังคงเดินหน้าต่อ

ที่มาภาพ : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

นายอานนท์ กล่าวว่า ในวันนี้ตั้งเป้าหมายในการฉายภาพเคลื่อนไหวในเวลา ‘ย่ำรุ่ง’ คือเวลา 05.23 น. เพื่อปลุกวิญญาณคณะราษฎร ซึ่งเดิมเตรียมผ้าขาวไว้ 5 ผืนและเครื่องฉาย 5 เครื่อง นี่เป็นกิจกรรมที่เราทุกคนให้ความสำคัญ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เห็นอยู่นี้อาจเป็นมรดกคณะราษฎรเพียงไม่กี่แห่งที่เหลืออยู่ แต่สิ่งที่ไม่มีวันหายไปคือระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่สืบมาจนถึงทุกวันนี้

จากนั้น เวลาประมาณ 05.23 น. เริ่มต้นฉายภาพเคลื่อนไหวจำลองเหตุการณ์การอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 โดย นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ต่อหน้าทหารบก ทหารเรือ และราษฎร เนื้อหาสำคัญยังมีวรรคทองที่กลายเป็นคำขวัญในการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนจนถึงปัจจุบันนั้นคือ

“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร…”

และหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่นำไปสู่การอภิวัฒน์ ดังนี้

1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

2. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน

5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดั่งกล่าวข้างต้น

6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

จากนั้น กล่าวไชโยขึ้นพร้อมกัน ซึ่งผู้เข้าร่วมงานต่างเปล่งเสียงไชโยกึกก้อง

ที่มาภาพ : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการฉายภาพเคลื่อนไหวจำลองเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้นำภาพหมุดคณะราษฎรบนแผ่นไวนิลมารวมถึงหมุดที่ทำจากทองเหลืองมาวางบนพื้นถนน ก่อนสิ้นสุดกิจกรรมในช่วงเช้ามืด

สำหรับกิจกรรมจัดรำลึกวันอภิวัฒน์สยาม หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ยังคงมีจัดในหลายจังหวัด รวมถึงขอนแก่น ซึ่งมีการชูป้ายรำลึก 88 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบที่ถูกส่งมาควบคุมพื้นที่โดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น หรือในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้จัดกิจกรรมรำลึกบนสะพานเสรีประชาธิปไตยด้วย

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่