ญาติวีรชนพฤษภา35 ออกแถลงการณ์ หลังรัฐบาลมัวแย่งตำแหน่ง ชี้ปรับ ครม.ต้องพุ่ง ศก.แนะรีบแก้ รธน.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่13 มิถุนายน 2563 นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ได้ออกแถลงการณ์คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 พร้อมเหตุผลประกอบ4ข้อ ใจความดังนี้

ตามที่คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35ได้ออกแถลงการณ์ ในโอกาสครบรอบ 28 ปี ของเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2563 เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงเจตจำนงด้วยการเสียสละลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่เหมาะกับสถานการณ์ใหม่แล้ว เพราะ ไม่ได้ปฏิรูปประเทศและสร้างความปรองดองสมานฉันท์ตามสัญญาและยังสืบทอดอำนาจ ทั้งนี้เพื่อเปิดพื้นที่ให้รัฐบาลชุดต่อมาที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งได้เข้ามาแก้ปัญหาซึ่งถือเป็นการล้างกระดานใหม่ ก่อนที่สถานการณ์ต่างๆของบ้านเมืองจะรุมเร้าเกิดความปั่นป่วนโกลาหลและกระทบต่อสถาบันสำคัญของชาติจนไร้หนทางเยียวยาวแก้ไขได้ โดยก่อนจะลาออก3-4 เดือนให้แก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงนิ่งเฉยไม่สนใจ คณะกรรมการญาติวีรชนฯ จึงขอตอกย้ำสถานการณ์ดังนี้

1.การแย่งชิงตำแหน่งกันในพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคแกนนำตั้งรัฐบาล เพื่อต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีกันท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนจากปัญหา ปากท้อง ตกงาน อันเนื่องมากจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สะท้อนให้เห็นว่านักการเมืองในฝ่ายรัฐบาลไม่ได้สนใจที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง สนใจแต่เพียงผลประโยชน์และพวกพ้องของตนเองมากกว่าผลประโยชน์ของชาติและประชาชนโดยรวม ซึ่งเป็นการเมืองแบบเก่า อันเป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญปี2560ที่ร่างขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของตัวเอง ไม่ใช่เพื่อการปฏิรูป ขณะที่พรรคการเมืองอื่นทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านก็มีความขัดแย้งภายในเช่นกัน ซึ่งตราบใดที่ยังไม่มีการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริงการเมืองไทยก็จะวนเวียนอยู่ใน”การเมืองน้ำเน่า”เช่นนี้ ระบบรัฐสภาก็เป็นที่พึ่งพาไม่ได้ สุดท้ายจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นระบอบประชาธิปไตยและประเทศชาติกลายเป็นวงจรอุบาทว์อีก พอกันทีกับ”การเมืองน้ำเน่า”ประชาชนอดทนมามากแล้ว

2.พล.อ.ประยุทธ์ไม่ปฏิรูปประเทศและไม่สร้างความปรองดองสมานฉันท์ หลังยึดอำนาจ22พ.ค.2557 มีการตั้ง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แล้วก็ยุบทิ้ง แล้วก็ตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และปัจจุบันมีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน รวมทั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งทั้งหมดคือการซื้อเวลาเพื่อสืบทอดอำนาจเท่านั้น หลังการแพร่ระบาดไวรัสโควิด สถานการณ์โลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วกลายเป็นยุค New Normal คณะกรรมการปฏิรูปเหล่านี้จึงไร้ความหมาย ระบบการเมืองไทยก็ยังเป็นแบบ Old Normal ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้ โดยเฉพาะวิกฤติเศรษฐกิจที่ลุกลามทั่วโลก ในขณะที่แกนนำกลุ่มการเมืองและผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งยังติดคดีความ หากความขัดแย้งทางการเมืองขยายตัวอีก สถานการณ์จะลุกลามเกินกว่าใครจะควบคุมสถานการณ์ได้

3.รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีเวลาอีกไม่นานแล้วก่อนจะสายเกินไป รีบเร่งแก้ปัญหาใหญ่ของบ้านเมือง เป็นเกียรติประวัติก่อนลงจากหลังเสือ โดยเฉพาะปัญหาทุนผูกขาดประเทศ ปัญหากับดักรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ กระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐานไร้ความน่าเชื่อถือ จึงต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจและสังคมโดยเร่งด่วน ก่อนประเทศไทยจะเผชิญสถานการณ์วิกฤติเหมือนสหรัฐอเมริกา ปัญหาใหญ่จากความขัดแย้งกำลังจะปะทุขึ้นมาในไม่ช้า โดยเฉพาะปัญหาการเลือกปฏิบัติ ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางเศรษฐกิจในสังคม คนรวยล้นฟ้า 1% กลับครอบครองโภคทรัพย์ในแผ่นดินมากมาย แต่ประชาชนกำลังเป็นทุกข์ยากจากภาวะตกงาน และกำลังจะอดตายเพราะนโยบายรัฐบาลและโครงสร้างประเทศที่ล้าหลัง

4.ถ้าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.)ก็ขอให้คัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารประเทศไม่ใช่แต่งตั้งเพราะมีการต่อรองกัน ใครมีมือมากกว่าก็ได้กระทรวงที่มีผลประโยชน์ไปดูแล และที่สำคัญต้องโละระบบโควตา เพราะถ้ายังมีระบบนี้จะยิ่งทำให้ประเทศประสบวิกฤติหนักเข้าไปอีก และการปรับครม.ควรจะเป็นเพียงชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และทำภารกิจพิเศษ อาทิ การแก้ไขให้มีการลดค่าใช้ไฟฟ้า ประปา ราคาพลังงานและระบบขนส่งมวลชนสาธารณะให้ถูกลงกว่าเดิม เพื่อบรรเทาภาระของประชาชน ด้วยการยกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่ทำไว้กับเอกชนเพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณอย่างแท้จริง

5.รัฐบาลต้องรีบแก้ไขปัญหารัฐธรรมนูญ เนื่องจากการทำหน้าที่ของวุฒิสภามาถึงทางตันแล้ว จากการใช้อำนาจมิชอบลงมติเห็นชอบให้นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งที่ขาดคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากทำหน้าที่รัฐสภามาก่อน เป็นเรื่องผลประโยชน์ขัดกันชัดเจน และอย่านำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับผู้แทนปวงชนจากทุกพรรคการเมืองเพื่อเดินหน้าบ้านเมืองสู่การปรองดองสมานฉันท์โดยเร็ว


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่