คลังเตรียมมาตรการอุ้ม ศก. | พิษโควิดขายทิ้งโรงแรม | สศช.คาดตกงานปีนี้เท่าวิกฤต 2540

แฟ้มข่าว

คลังเตรียมมาตรการอุ้ม ศก.

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สั่งการให้แบงก์รัฐเตรียมมาตรการกระตุ้นและดูแลเศรษฐกิจชุดใหม่ หลังโควิด-19 นอกเหนือจากมาตรการออกไปก่อนหน้านี้ โดยมาตรการออกมามีทั้งมาตรการทางการเงินและมาตรการไม่ใช่การเงิน โดยสิ่งที่อยากดำเนินการคือ เน้นการสร้างความเข้มแข็งชุมชน เน้นวิสาหกิจ ดูแลการเกษตร การสร้างงาน และหนี้นอกระบบ ผ่านการดำเนินการของทีมเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งทีมเราไม่ทิ้งกันเริ่มลงพื้นที่เก็บข้อมูลแล้ว โดยในส่วนมาตรการทางการเงินนั้น จะเป็นมาตรการด้านสินเชื่อที่แบงก์รัฐจะเข้ามาช่วยสนับสนุน ส่วนมาตรการไม่ใช่การเงินจะร่วมกับกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เตรียมสร้างงานสำหรับบัณฑิตจบใหม นอกจากนี้ กำลังเตรียมจัดตั้งกองทุนช่วยเอสเอ็มอีรายเล็กให้สามารถเข้าถึงมาตรการสินเชื่อวงเงินไม่น่าจะเกิน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งกองทุนดังกล่าวมาเสริมกับซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีคนพูดถึงว่าผู้ประกอบการเข้าถึงยาก

ตุน 4 หมื่นล้านช่วยเอสเอ็มอี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังมอบนโยบายธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีดี แบงก์ ว่า มอบนโยบายให้ ธพว.เร่งดูแลผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ด้วยการเดินหน้าเติมทุนสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษ เพื่อให้เอสเอ็มอีทุกกลุ่มธุรกิจทั่วประเทศ มีเงินทุนไปหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง จ้างงาน และฟื้นฟูธุรกิจให้กลับคืนมาสามารถดำเนินการได้ดีอีกครั้ง คาดว่าจะอนุมัติสินเชื่อได้กว่า 40,000 ล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอีได้ราว 24,000 กิจการ รวมถึงการพักชำระหนี้เงินต้นให้กับลูกค้าเดิมเป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี จากเดิม 6 เดือน และให้ขยายระยะเวลาสัญญาเงินกู้จากเดิม 5-7 ปี เป็น 5-10 ปี เพื่อให้เอสเอ็มอีมีเวลาปรับตัว คาดว่าสินเชื่อดังกล่าวช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้สู่ท้องถิ่น ช่วยรักษาการจ้างงานประมาณ 120,000 ราย สร้างมูลค่าหมุนเวียนทางเศรษฐกิจประมาณ 90,000 ล้านบาท

สินค้าเกษตร มิ.ย.ราคาดี

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนมิถุนายน 2563 ดังนั้น สินค้าเกษตรมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว 16,084-16,159 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.68-1.15%, น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก 10.59-10.90 เซ็นต์/ปอนด์ (7.46-7.68 บาท/ก.ก.) เพิ่มขึ้น 2-5%, ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 อยู่ที่ 35.25-35.50 บาท/ก.ก. เพิ่มขึ้น 0.54-1.50%, ปาล์มน้ำมัน 2.69-2.74 บาท/ก.ก. เพิ่มขึ้น 0.37-2.24%, สุกร 67.69-68.58 บาท/ก.ก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.17-2.50%, กุ้งขาวแวนนาไม (70 ตัว/ก.ก.) 136-138 บาท/ก.ก. เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.47%

สำหรับสินค้าเกษตรมีแนวโน้มราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% อยู่ที่ 9,325-9,389 บาท/ตัน ลดลง 0.67-1.34% และข้าวเปลือกหอมมะลิ 14,634-14,660 บาท/ตัน ลดลง 1.15-1.33%, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% อยู่ที่ 7.52-7.56 บาท/ก.ก. ลดลง 0.50-1%, มันสำปะหลัง 1.62-1.67 บาท/ก.ก. ลดลง 0.60-3.57%

พิษโควิดขายทิ้งโรงแรม

นางศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาพรวมธุรกิจโรงแรมไทย ยังไม่ได้แตกต่างจากช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะประกาศผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ กลับมาเกือบเป็นปกติแล้วก็ตาม เนื่องจากการเดินทาง การท่องเที่ยวในประเทศยังไม่เกิดขึ้น รวมถึงทิศทางการกลับเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังไม่ชัดเจน จึงทำให้โรงแรมส่วนใหญ่ ยังไม่กลับมาเปิดให้บริการ จากที่สอบถามผู้ประกอบการเริ่มวิตกในเรื่องสถานะทางการเงิน เพราะตอนนี้ค่อนข้างตึงตัวมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก หรือโรงแรมที่เพิ่งเปิดใหม่ตามชุมชน แม้เริ่มมีการปิดประกาศขายแล้วในหลายพื้นที่ แต่ก็ไม่มีผู้ซื้อเพื่อทำธุรกิจโรงแรมต่อ อาจเพราะเชื่อว่าโควิด-19 จะกระทบยาวและทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวถึงปีหน้าได้ หากย้อนดูช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาการซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยมีอัตราต่ำมาก เพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีนัก การขายโรงแรมเก่าจึงไม่ได้ทำง่ายมากนัก แต่ยังเห็นการเปลี่ยนมือระหว่างคนไทยกับคนไทย หรือเปลี่ยนให้ต่างชาติเข้ามาบริหารแทน

สศช.คาดตกงานปีนี้เท่าวิกฤต 2540

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยถึงภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2563 และรายงานพิเศษกรณีวิกฤตโควิด-19 : บทเรียนเพื่อการก้าวต่อไปอย่างมีภูมิคุ้มกันว่า สศช.ประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง จะส่งผลให้ปี 2563 อัตราการว่างงานอยู่ช่วง 3-4% หรือทั้งปีมีผู้ว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน ถือเป็นระดับว่างงานใกล้เคียงกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 โดยยอมรับว่าปีนี้จะมีคนตกงานมากกว่าทุกปี จากอัตราเฉลี่ยการว่างงานของไทยอยู่ที่ 1% หรือประมาณ 4 แสนคน ส่วนผลโควิด-19 ทำให้แรงงาน 8.4 ล้านคน เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง แบ่งเป็นภาคการท่องเที่ยวมีความเสี่ยงเลิกจ้าง 2.5 ล้านคน จาก จำนวนจ้างงาน 3.9 ล้านคน (ไม่รวมสาขาการค้าส่ง และการค้าปลีก) ส่วนภาคอุตสาหกรรมคาดว่ามีแรงงานเสี่ยงถูกเลิกจ้าง 1.5 ล้านคน จากจำนวนจ้างงาน 5.9 ล้านคน สำหรับภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว เช่น สถานศึกษา หรือสถานที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก เช่น ตลาดสด สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า มีแรงงานเสี่ยงถูกเลิกจ้างประมาณ 4.4 ล้านคน จากจำนวนจ้างงาน 10.3 ล้านคน

บริษัทอสังหาฯ กำไรทรุด 40%

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพีนี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด เปิดเผยว่า คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี 2563 หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด-19) มีแนวโน้มคลี่คลาย และกำลังซื้อเพื่อการอยู่อาศัยยังคงมีอยู่ในตลาดหลังจากที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปี 2563 ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 29 บริษัท จะมีรายได้รวม 59,207.66 ล้านบาท ลดลงใน 30.43% และกำไรสุทธิ 8,176.88 ล้านบาทลดลง 40.68% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2562 ก็ตาม แต่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอสังหาฯ ยังคงสามารถรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรเฉลี่ยที่ 13.81% ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น นอกจากนี้ยังพบว่า สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) ของผู้ประกอบการอสังหาฯ ณ สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 โดยเฉลี่ยยังต่ำกว่า 2 ต่อ 1 เท่า ซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทอสังหาฯ ใน ตลท.

ซึ่งแตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่สัดส่วนหนี้ต่อทุนของบริษัทอสังหาฯ ในขณะนั้นสูงกว่า 2 ต่อ 1


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่