เอกชนสนกู้สินเชื่อดอกต่ำ 4.4 พัน ล.ด้าน สช.เล็งเสนอรัฐบาลช่วย ร.ร.มีปัญหาการเงิน

เอกชนสนกู้สินเชื่อดอกต่ำ 4.4 พัน ล.ด้าน สช.เล็งเสนอรัฐบาลช่วย ร.ร.มีปัญหาการเงิน

โรงเรียนเอกชน – นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ออกมาตรการช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนเพื่อรักษาสภาพคล่องในสถานการณ์วิกฤตต่างๆ รวมถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 โดยให้โรงเรียนเอกชนในระบบที่มีสิทธิกู้ยืมเงิน และยืมเงินได้ สามารถยื่นแบบคำขอกู้ยืมเงิน และคำขอยืมเงิน จากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในส่วนของการบริหารกิจการโรงเรียน ได้ตั้งแต่วันที่ 1-10 มิถุนายน ขณะนี้มีโรงเรียนยื่นเรื่องขอกู้ยืมเงินจำนวนมาก

นายอรรถพลกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สช.เตรียมเสนอให้รัฐบาลเสนอพิจารณาให้ความช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนที่ประสบปัญหาทางการเงิน โดยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนเอกชนแจ้งขอกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจำนวนกว่า 4,400 ล้านบาท รวมทั้ง จะเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการป้องกันโรคให้โรงเรียนเอกชน ในการจัดซื้อหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และอุปกรณ์ป้องกันโรคต่างๆ

“นอกจากนี้ ผมได้แต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบโรงเรียนในทุกพื้นที่ ว่ามีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนรับมือการระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างไรบ้าง ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัด ให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามความพร้อมของโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ด้วย ซึ่งจะต้องเร่งไปตรวจสอบในทุกพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมให้โรงเรียนในการเปิดภาคเรียนในเร็วๆ นี้ด้วย” นายอรรถพล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้โรงเรียนเอกชนอยากให้รัฐเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว เนื่องจากต้องกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้องใหม่ และจัดเวลาเรียนให้นักเรียนมาเรียนแบบเหลื่อมเวลากัน ทำให้ต้องเรียนในวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย ต้องจ้างครู และบุคลากรอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย แต่โรงเรียนไม่มีเงินในการจ้างเพียงพอ จึงขอให้รัฐช่วยโดยจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว 100% นายอรรถพล กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ สช.ต้องทบทวนหลายเรื่อง รวมทั้ง ทบทวนจำนวนนักเรียนต่อห้องของโรงเรียนเอกชนด้วย เพราะปัจจุบันโรงเรียนเอกชนมีจำนวนนักเรียนต่อห้องเกือบ 50 คน เป็นปัญหาที่ทำให้แก้ไขจำนวนนักเรียนต่อห้องยาก เพราะการปรับลดจำนวนนักเรียนต่อห้อง ทำให้มีห้องเรียนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสัมพันธ์กับการจ่ายเงินอุดหนุนรายหัว ที่ไม่ได้ปรับมาเป็นระยะเวลานานด้วย ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาในการปรับลดจำนวนนักเรียนต่อห้อง และการจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวแล้ว


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่