“ชุมสาย” ชี้ เกณฑ์สรรหากรรมการ ปปช.-กสม.ต้องมาตรฐานเดียว ไม่ใช่ตีความกว้าง-ตามอำเภอใจ

วันที่ 5 มิถุนายน 2563 นายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณี ที่วุฒิสภามีมติเห็นชอบ แต่งตั้งนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ที่พ้นตำแหน่ง สนช.มาไม่เกิน 10 ปี เป็นกรรมการ ปปช. ซึ่งอาจจะขัดต่อกฎหมาย ป.ป.ช พ.ศ.2561 มาตรา 11(18)ในขณะที่คณะกรรมการสรรหาบุคคลเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือ กสม.มีมติตัดสิทธิพล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก และ น.ส.จินตนันท์ ริญาต์รศุภมิตร ผู้เข้ารับการสรรหาเนื่องจากขาดคุณสมบัติเพราะพ้น ตำแหน่ง สนช.มาไม่เกิน 10 ปีเช่นกันตาม พรป.กสม.พ.ศ.2560 มาตรา10(18) นั้นตนเห็นว่า ทั้งสองกรณี คือคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.และ กสม. ไปจนถึง สว.ต้องใช้เกณฑ์เดียวกันในการพิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้เข้ารับการสรรหา ไม่น่าจะตีความได้หลายนัย

“ความใน พรป. ป.ป.ช. พ.ศ.2561 มาตรา 11 (18) เหมือนกันทุกประการกับความใน พรป. กสม. พ.ศ.2560 มาตรา 10(18 ) ข้อเท็จจริงเดียวกัน ข้อกฎหมายเดียวกัน ต่างกันเพียง คนละองค์กร จึงไม่มีหตุใดที่คณะกรรมการสรรหา จะต้องวินิจฉัยต่างกันไม่ว่าจะมาจากหน่วยงานใด กฎหมายต้องมีความมั่นคงแน่นอน ไม่ใช่ยอมให้ตีความตามอำเภอใจ และต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ ความมุ่งหมายและความสุจริตเป็นหลัก กฎหมายมิใช่เป็นเพียงเครื่องมือ ที่จะใช้เป็นคุณกับพวกตน และใช้เป็นโทษกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นปัญหา ของรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจในส่วนขององค์กรอิสระ ที่ต้องแก้ไข” นายชุมสาย กล่าว

นายชุมสายกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 263 บัญญัติให้ สนช.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่เป็น สส.หรือ สว. จึงถือว่า สนช.เป็นและทำหน้าที่เช่นเดียวกับ สส.และ สว.เหตุที่ไม่เรียก สส.หรือ สว.เพราะถูกแต่งตั้งมาจากหัวหน้าคณะปฏิวัติไม่ใช่เลือกตั้งมาโดยประชาชน จึงถือเป็นสาระสำคัญว่า สนช.มีอำนาจและปฏิบัติหน้าเช่นเดียวกับ สส.และ สว. สนช.เข้าสู่อำนาจโดยวิธิพิเศษช่วงที่ไม่มีสภา แต่ไม่สามารถใช้อำนาจพิเศษเกินกว่า สส.หรือ สว. ในระบบรัฐสภาปรกติ การตีความว่า สนช.ไม่ใช่ สส.และ สว.ที่ต้องห้ามเป็นกรรมการองค์กรอิสระและไม่ขัดต่อ พรป. ป.ป.ช. มาตรา 11 (18) น่าจะเป็นการเกินกว่าเจตนารมณ์ของ รัฐธรรมนูญและกฎหมาย เป็นการขยายอำนาจ สนช.มากไป แต่หากจะพิจารณาว่า สนช.ไม่ใช่ สส.หรือ สว. และยึดบรรทัดฐานที่วุฒิสภามีมติ ควรต้องคืนความเป็นธรรมให้ผู้ที่เสียสิทธิเข้ารับการสรรหา ซึ่งควรมีเพียงมาตรฐานเดียว และต้องรอฟังคำชี้ขาดของศาลที่มีอำนาจต่อไป นายชุมสาย กล่าว