เดินหน้า ”คลายล็อก” เฟส 4 SME ขอผ่อนเกณฑ์กู้ 5 แสนล้าน

“คลายล็อกดาวน์” เฟส 3 ดันเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 200,000 ล้าน ส.อ.ท.-หอการค้าขอรัฐช่วยสภาพคล่อง เข้าถึงเงินกู้ ผ่อนเกณฑ์สินเชื่อ SMEs วอนรัฐปลดล็อกธุรกิจเต็มรูปแบบ เปิดทางสู่ภาวะปกติ จี้รัฐกู้เศรษฐกิจ แทนขู่ระบาดระลอก 2

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวหลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ดำเนินมาตรการผ่อนคลายการประกอบกิจการมาได้ 2 เฟสว่า แม้ประชาชนจะมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นก็จริง แต่กฎระเบียบหลายด้านยังเป็นอุปสรรค ทำให้ไม่ค่อยสะดวก ส่งผลให้การจับจ่ายยังไม่มากเท่าที่ควร โดยจะเห็นว่ายอดค้าปลีกบางห้างยังลดลงอยู่ 50-60% และหากถามว่า จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) กระเตื้องขึ้นหรือไม่ “ตรงนี้ต้องมีการพิจารณาทบทวนอีกครั้ง ในการประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) รอบต่อไป”

ส.อ.ท.เสนอให้รัฐบาลพิจารณา”ปลดล็อก” ธุรกิจในประเทศเต็มรูปแบบ หรือเปิดทุกอาชีพ-ค้าขายอิสระ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุข เช่น ต้องสวมหน้ากากอนามัย มีเจลล้างมือ มีการโหลดแอปไทยชนะ พร้อมกันนี้อยากให้รัฐบาลพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการเปิดให้นักธุรกิจต่างประเทศสามารถเดินทางเข้าประกอบธุรกิจในไทยได้ โดยอาจจะเริ่มจากประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง เช่น จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น ก่อนที่จะพิจารณาคลายล็อกนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศในลำดับต่อไป

“เหตุผลที่เราต้องเสนอแบบนี้ ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจจะแย่ไปกว่านี้ อยากให้ห่วงเศรษฐกิจด้วย ไม่ใช่จะกลัวการระบาดระลอกที่ 2 อย่างเดียว”

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมที่ ส.อ.ท.ได้เสนอรัฐบาลก็คือ การช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง ยังต้องการความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเต็มรูปแบบ มาตรการด้านการส่งเสริมการลงทุนเสนอให้รัฐบาลพิจารณาประเภทกิจการที่คนไทยมีศักยภาพ เช่น อาหาร, สมุนไพร และเครื่องสำอาง

ขอผ่อนเกณฑ์เงินกู้ SMEs

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานกลุ่มมาตรการสำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ ภายใต้คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้สำรวจการประเมินผลจากการดำเนินมาตรการคลายล็อกดาวน์ พบว่าแต่ละเฟสจะช่วยให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 100,000 ล้านบาทต่อเดือน ช่วยกระตุ้นอัตรการขยายตัวของ GDP ได้พอสมควร

อย่างไรก็ตามจากการประชุมหารือร่วมกับหอการค้ายังมีข้อเสนอเพิ่มเติม แม้ปัจจุบันจะเริ่มดำเนินธุรกิจได้ แต่ก็ยังไม่สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้ทัน “มันต้องใช้เวลา” ดังนั้นจึงขอให้ 1) รัฐบาลขยายเวลาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในการจ่ายประกันสังคมจากเดิม 3 เดือน (มี.ค.-พ.ค. 2563) จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้ต่อไปอีก

2) ขอให้แก้ไขปัญหาความล่าช้าเรื่องการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับผู้ประกอบการให้เร็วขึ้นเพื่อช่วยด้านสภาพคล่อง จากที่ผ่านมาการขอคืน VAT ระบบอิเล็กทรอนิกส์จะใช้เวลา 15 วัน และระบบปกติจะใช้เวลา 45 วัน แต่ทางผู้ประกอบการก็ยังไม่ได้รับเงินคืน

3) ขอให้พิจารณาผ่อนคลายมาตรการสินเชื่อจากวงเงินกู้ 500,000 ล้านบาท ซึ่งเดิมจะใช้กลไกธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยกู้ แต่มีการพิจารณาตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ปกติ ประเด็นนี้จึงทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ทางหอการค้ากำลังสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อเตรียมนำเสนอรัฐบาลในลำดับต่อไป

“ความพร้อมในการเปิดคลายล็อกเฟส 4 ตอนนี้เริ่มคุยกันบ้างแล้ว ทำคู่ขนานไปกับการทำคู่มือและคลิปสำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจในเฟส 3 ส่วนธุรกิจที่ยังไม่อนุญาตให้กลับมาเปิด เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ยังต้องทำรอไว้ กลุ่มนี้อยากกลับมาเปิดทำธุรกิจแล้ว” นายกลินท์กล่าว

งานแสดงสินค้ารอกลับมาเปิด

นางวราภรณ์ ธรรมจรีย์ กรรมการผู้จัดการ รี้ดเทรดเด็กซ์ กล่าวถึงสถานการณ์การจัดงานแสดงสินค้าในครึ่งปีหลังหากมีการประกาศผ่อนคลายเฟส 4 ว่า ยังมีงานแสดงสินค้าอีกไม่น้อยกว่า 51 งาน พื้นที่ 300,000 ตารางเมตร มูลค่า 4,300 ล้านบาท กำลังรอการพิจารณาผ่อนคลายอยู่ “ทั้งหมดจะกลับมาจัดงานได้” ในส่วนของรี้ดเทรดเด็กซ์จะมีงาน Manufacturing Expo 2020 เป็นงานจัดแสดงด้านอุตสาหกรรมยานยนต์รวมถึงเครื่องจักรขนาดใหญ่และยังมีแผนจะจัดอีก 3 งาน คืองานโลจิสติกส์ TILOG-LOGISTIX 2020 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 26-28 ส.ค. 2563, งานเครื่องสำอาง หรือ COSMEX 2020 ในวันที่ 3-5 พ.ย. 2563 และงานด้านเทคโนโลยีโลหะการหรือ METALEX 2020 ในวันที่ 18-21 พ.ย. 2563 แต่ยังต้องประเมินถึงมาตรการรัฐที่ยังไม่อนุญาตให้เที่ยวบินจากต่างประเทศเดินทางเข้ามายังประเทศไทยด้วย

ส่วนนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปและในฐานะรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า มาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 3 ทำให้ภาคธุรกิจ กิจการต่าง ๆสามารถประกอบธุรกิจได้เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อรายได้ แต่ยังคงเหลือกิจการบางกิจการ เช่น กิจการที่ต้องให้บริการอย่างใกล้ชิด ส่วนมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 4 ทางภาคเอกชนไม่ได้ติดขัดว่า จะกำหนดช่วงใด หากประเทศไม่เกิดการแพร่เชื้อ

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่