บิ๊กตู่แจงกม.โอนงบ ลั่นพบไม่โปร่งใสให้ร้องเรียน มีกลไกสอบ ถ้าไม่คืบ ร้องเข้ามาใหม่

“บิ๊กตู่” แจงพ.ร.บ.โอนงบประมาณ

ชี้ หากไม่โปร่งใสสามารถร้องเรียนได้

มีกลไกคอยตรวจสอบอยู่

หากร้องเรียนแล้วยังไม่คืบ ร้องเข้ามาใหม่

วันที่ 4 มิถุนายน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. … วาระแรก ตามที่ครม.เป็นผู้เสนอ วงเงิน 88,452,579,900 บาท เพื่อโอนงบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณต่างๆได้รับตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2563 ไปตั้งเป็นงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น นำไปใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางมาร่วมชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นของงบประมาณดังกล่าวด้วยตัวเอง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบชี้แจงว่า ได้เข้ามารับฟังการอภิปรายของทุกท่านตั้งแต่เช้า หลายท่านมีข้อเสนออันเป็นประโยชน์ที่รัฐบาลจะนำไปพิจารณาในการใช้จ่ายงบดังกล่าวให้สอดคล้องกับบริบทความเป็นจริง ซึ่งมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 และต้องวางไปถึงอนาคต วันนี้เป็นการพิจารณากฎหมายคนละฉบับ ฉบับที่แล้วเป็น พ.ร.ก.เงินกู้ฯ วันนี้เป็น พร.บ.โอนงบฯ ซึ่งมีขั้นตอนที่แตกต่างกันพอสมควร สิ่งที่เราต้องเข้าใจตรงกันคืองบประมาณร่ายจ่ายของภาครัฐ มีทั้งงบบุคลากร งบดำเนินงาน งบการลงทุน งบอุดหนุน งบรายจ่ายอื่นๆ ขณะที่รายจ่ายซึ่งเป็นงบกลางนี้ หลายท่านอาจจะพูดด้วยความเข้าใจหรือไม่เข้าใจแต่คาดว่าอยู่บนความหวังดี ซึ่งรายจ่ายงบกลางไม่ใช้งบประมาณที่นายกฯ จะบริหารแต่เพียงผู้เดียว เพราะรายจ่ายงบกลางคืองบประมาณที่ตั้งไว้เพื่อจัดสรรให้ส่วนกลางและรัฐวิสาหกิจโดยทั่วไปตามรายการต่อไปนี้ 1.เงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ 2.เงินช่วยเหลือข้าราชการและลูกจ้างของรัฐ 3.เงินเลื่อนขั้นเลื่อนระดับเงินเดือนและปรับวุฒิข้าราชการ 4.เงินสำรองเงินสมทบและเงินชดเชยข้าราชการ 5.เงินสมทบลูกจ้างประจำ 6.ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ 7.เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน 8.ค่าใช้จ่ายในการรักษาความสงบของประเทศ 9.ค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ 10.ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลลูกจ้างและพนักงานของรัฐ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากรายการหลักๆ ที่กล่าวไปแล้ว งบประมาณรายจ่ายประจำปีอาจตั้งรายจ่ายอื่นไว้ในรายจ่ายงบกลางตามความเหมาะสมในแต่ละปี เช่น เงินรางวัลประจำปี เงินชดเชยค่าก่อสร้าง เงินขวัญถุงโครงการเปลี่ยนชีวิตเกษียณก่อนกำหนด เป็นต้น สรุปว่าต้องเข้าใจก่อนว่างบกลางคืออะไร ใช้ทำอะไรบ้างและมีสัดส่วนอย่างไร ส่วนที่สมาชิกระบุว่าตามมาตรา 35 (1) กำหนดให้โอนงบประมาณจากหน่วยงบประมาณไปให้หน่วยรับงบประมาณอื่น โดยให้ทำเป็น พ.ร.บ.ไม่ได้ให้โอนไปงบกลาง และการโอนไปเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ขัดหลักความเฉพาะเจาะจงและหลักความยินยอม เพราะงบกลางเป็นอำนาจของนายกฯ แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งมันใช่ผมแต่เพียงผู้เดียวที่ไหน การบริหารเงินงบประมาณทุกวันไม่ใช่เงินของนายกฯ เอง ตนทำแบบนั้นไม่ได้ ยังมีหลายขั้นตอนหลายประการ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า คำชี้แจงของตนคือ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ตามมาตรา 35 การโอนงบประมาณออกจากกระทรวงกรม ต้องทำเป็น พ.ร.บ.เท่านั้น ถึงต้องมีการเสนอเป็น พร.บ.ในวันนี้ มีขั้นตอนการพิจารณาสามวาระด้วยกัน ต้องใช้เวลาพอสมควร การจัดสรรงบกลางที่ได้มานั้นจัดสรรให้ทุกหน่วยงานที่มีความจำเป็นกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินโดยอำนาจของ ครม. ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานั้นบางท่านบอกว่ามีการทำ พ.ร.บ.โอนงบฯ ถึง 5 ครั้งตั้งแต่ปี 2507 2558 2559 2560 และ 2561 และปัจจุบันทำเป็น พ.ร.บ.ทั้งสิ้น ไม่มีเป็นอย่างอื่นได้ ต้องทำเป็น พ.ร.บ.โอนงบฯ เท่านั้น รัฐบาลไหนก็ตามก็ทำไปตามนี้ ส่วนที่ว่าทำไมไม่จัดทำ พ.ร.บ.โอนงบฯ ก่อนเพื่อที่จะไม่ต้องจัดทำเป็น พ.ร.บ.กู้เงินฯ นั้น ถึงอย่างไรเงินไม่พออยู่แล้ว เพราะต้องมีการประมาณการอนาคต ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก ซึ่งมีหลายมิติไม่ใช่แค่โควิดเท่านั้น จากการแพร่ระบาดของโควิด รัฐบาลได้ประมาณการใช้จ่ายเยียวยาวงเงินสูงถึง 5.5 หมื่นล้านบาท งบกลางที่มีอยู่เดิมรายงานเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินมีไม่เพียงพอ ประกอบกับ พ.ร.ก.กู้เงินฯ สามารถทำได้เร็วกว่าการจัดทำ พ.ร.บ.โอนงบฯ และเงินทั้งสองก้อนต้องเข้ามาอยู่ในกรอบที่รัฐบาลกำหนดว่าจะใช้จ่ายอะไรบ้าง หลายท่านบอกเอาไปแล้วเอาไปเลยคงไม่ใช่ เพราะในกรอบเราเขียนกว้างๆ อยู่แล้ว ทั้งโควิด น้ำท่วม หรืออื่นๆ ที่จำเป็น อะไรที่ถูกตัดไปช่วงแรกหลังโอนงบไปแล้วท่านสามารถขอกลับขึ้นมาใหม่ได้ เพียงแต่ต้องทำให้สมบูรณ์ มีรายละเอียดที่ชัดเจน สามารถดำเนินการได้ในห้วงเวลาที่กำหนด ส่วนใหญ่แล้วที่เราปรับโอนครั้งนี้ยังทำสัญญาไม่ได้ ยังไม่ครบถ้วน แผนยังไม่สมบูรณ์ก็หยุดไปก่อน เมื่อท่านพร้อมก็เสนอเข้ามา ครม.ก็จะพิจารณาให้ ไม่ใช่ตัดหายไปเลย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่ว่าเหตุใดกระทรวงกลาโหมไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ ที่ต้องตัดโอนเท่า พ.ร.บ.โอนฯ 5% ทำไมไปตัดโอน 10% ทั้งนี้ กรณีผูกพันข้ามปีงประมาณรายการใหม่ในปีงบประมาณ 2563 ให้ปรับลดลงร้อยละ 5 แต่ถ้าหน่วยงานเห็นว่าสามารถชะลอการดำเนินการได้โดยไม่เกิดความเสียหายต่อราชการและหน่วยงาน ก็ให้ปรับลดได้มากกว่าร้อยละ 5 นี่คือที่กฎหมายกำหนด ส่วนรายจ่ายงบประมาณปี 63 ล่าช้า ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างและการใช้จ่ายงบประมาณในภาครัฐไม่เป็นไปตามที่เป้าหมายกำหนด พอมีเรื่องโควิด เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก ภัยแล้ง เราจึงต้องออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบ คือ 1.โอนหรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณไปควบคุมโควิด แก้ภัยแล้งหรือน้ำท่วม แต่ข้อจำกัดของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ ไม่สามารถโอนงบประมาณข้ามหน่วยงานได้ ต้องเข้ามางบกลางก่อน ท้ายสุดจึงจะพิจารณาโดยคณะกรรมการจัดทำงบประมาณเสนอขึ้นมาแล้ว ครม.ก็พิจารณาตามขั้นตอนปกติ จึงจำเป็นต้องมีเงินจำนวนนี้ไว้ ซึ่งที่ผ่านมางบกลางในการสำรองจ่ายฉุกเฉินที่จำเป็น เราใช้ไปแล้วจำนวนมากเหลือเพียง 400 กว่าล้านบาทเท่านั้น เราถึงต้องทำ พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 63 ที่ยังทำไม่ได้ ก็โอนกลับมาที่งบกลางก่อน ต่อไปก็เตรียมวงเงินกู้ แต่เงินจำนวนนี้ต้องไปตั้งงบประมาณขึ้นมาใหม่ตามระเบียบวิธีการบริหารงบประมาณให้เป็นไปตามกฎหมาย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ภายใต้กรอบของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังที่ท่านบอกว่าปรับนู่นนี่ เพื่อให้รัฐบาลสามารถใช้เงินได้อย่างง่ายดายคงไม่ใช่ เพราะวันนี้มีสถานการณ์ไม่ปกติขึ้นมา ดังนั้นคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ได้พิจารณาและมีกฎหมายที่ชัดเจนว่าจำเป็นว่าต้องปรับในสดส่วนงบดังกล่าว รวมถึงรายจ่ายงบประมาณชำระคืนเงินกู้ด้วย ถึงอย่างไรต้องพิจารณาสัดส่วนเฉพาะช่วงเวลาวิกฤต เมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติให้มีการทบทวนให้เหมาะสมต่อไป เรื่องหนี้สาธารณะเราก็มีคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะอยู่แล้ว จะเห็นว่าอะไรที่ผ่อนสั้นยาวได้ เรามีคนทำงานทั้งหมด ดังนั้นอย่าห่วงมากนัก ปล่อยให้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ทำงาน แล้วค่อยมาดูในรายละเอียดว่าทุจริตหรือไม่ ตนย้ำว่าทุกโครงการที่จัดทำต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนว่าต้องการอะไร ให้เข้าสู่การพิจารณาของ กบจ.อย่าก้าวล่วง อย่าบังคับ จากนั้นก็พิจารณาขึ้นมาก็ผ่านสำนักงบฯ กรมบัญชีกลางตรวจสอบ เข้าคณะกรรมการคัดสรรโครงการ อนุมัติโดย ครม. นายกฯ ก็อนุมัติในกรอบของครม.

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงกลาโหม การปรับลดงบรายจ่ายลงทุนผูกพันข้ามปีของกระทรวงต่ำกว่าร้อยละ 15 อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถปฏิบัติได้ ชะลอได้ในปี 2563 ถ้าทำไม่ได้ไม่สำเร็จ เว้นแต่บางอย่างที่เป็นการผูกพันไปแล้ว ทำสัญญาไปแล้ว ซึ่งเราพยายามผ่อนลดลงทุกอย่าง จะบอกว่าไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องซื้อ วันนี้ต้องมองว่าทหาร ตนไม่อยากมองว่าตนเป็นทหารให้เห็นใจเขาเป็นพิเศษ แต่ต้องดูว่าทำหน้าที่กี่อย่าง มีหน้าที่หลายอย่างด้วยกันโดยไม่ใช่หน้าที่โดยตรง จะบอกว่าไม่ไปช่วยก็คงไม่ได้ โควิดก็ต้องช่วย น้ำท่วมก็ต้องช่วย ฝนแล้งงก็ต้องช่วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะที่ในส่วนของยุทโธปกรณ์ ตนไม่แก้ตัวถ้าเราจะบอกว่าทำไมต้องใช้ของแพงของดี ชีวิตคนก็สำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ให้เขาเกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะมีครอบครัว การทำงานก็ต้องมีอะไรคุ้มครองเพื่อให้เกิดความปลอดภัย แต่อะไรที่มันยืดไปได้ ยังไม่ต้องหาตอนนี้ ก็ไปหาต่อในระยะหน้า แต่ถ้าบอกว่าไม่ต้องทำอะไรเลยและไม่ต้องมีทหารเข้าไปอีก ก็แล้วแต่จะคิด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องของรายจ่ายงบกลางเงินสำรองฉุกเฉิน 2563 ที่เดิมตั้งไว้ 96,000 ล้านบาท รายละเอียดมี ดังนี้ ค่าใช้จ่ายบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินโรคไวรัส 56,261 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย 18,348 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายทางด้านเศรษฐกิจและสังคม 11,184 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการภาครัฐ 9,752 ล้านบาท ที่ใช้ไปเพราะพ.ร.ก.เงินกู้ ยังไม่ได้เงินและพ.ร.บ.โอนงบฯยังไม่ออก รวมครม.ใช้งบ 95,546.7072 ล้านบาท คงเหลือประมาณ 453 ล้านบาท ดังนั้น วันนี้จึงต้องหางบกลางมาเพิ่มเติมเพื่อใช้จ่ายวงเงินที่อยู่ในกรอบของการใช้จ่ายงบกลางได้ โดยผ่านการกลั่นกรองขึ้นมา จึงต้องเสนอพ.ร.ก.กู้เงินและพ.ร.บ.โอนงบฯ เพื่อให้สอดคล้องกับเวลาและเงินที่มีอยู่ เรียกได้ว่าต้องมีเงินไว้ในกระเป๋าบ้างเพื่อไว้แก้ไขปัญหา

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในส่วนของการพิจารณาเรื่องการทำงานความโปร่งใส ผมขออย่างเดียวอย่ามีใครลงไปยุ่งกับข้างล่างเขา ทุกท่านทราบดีว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง มีคดีต่างๆมากมาย อย่าให้มีคดีอีก ยืนยันว่าต้องลงโทษกับทุกคนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นใครทั้งสิ้น ในการไปก้าวล่วง ต้องให้ประชาชนเข้าใจว่าทำอะไรดีไม่ดี ไม่ใช่ทำตามความพอใจเป็นกลุ่มเป็นฝ่าย

“วันนี้ต้องเข้าใจว่าคำว่าประชาชนคืออะไร ประชาชนคือคนไทยทั้งประเทศ 61 ล้านคน ผมต้องดูแลคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมในสัดส่วนที่เหมาะสม และการลงทุนทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งที่จำเป็นหลายอย่างบอกทำไมไปตัดตรงนี้ เพราะมันยังมีเวลาในการทำงานอยู่ เราดึงตรงนี้มาทำตรงนี้ เมื่อไม่เร่งด่วน บางครั้งมันมีหลายระยะ ผมจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการคัดกรอง เป็นเรื่องของขั้นตอนตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง “นายกฯกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนพยายามทำให้เกิดความเข้าใจให้มากที่สุด ทั้งนี้ ขอขอบคุณทุกคนที่สนใจและเอาใจใส่ เพียงแต่ว่าท่านต้องศึกษาหลายอย่างทั้งกฎหมาย ความเป็นจริง การบริหาร ทุกอย่างมันมีขั้นตอน มันยุ่งอย่างเดียวคือชอบมีคนไปยุ่งระดับข้างล่าง อย่ากดดันเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ก็ต้องสุจริต ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่สุจริต ร้องเรียนได้ กลไกการตรวจสอบมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น สตง. ปปช.ปปท. ถ้าร้องแล้วยังไม่ทำ ก็ร้องไปใหม่ สังคมเป็นผู้ตัดสินตรงนี้เอง

“ผมรับฟังทุกคน ผมไม่เคยประท้วงท่าน เพราะสิ่งที่ผมกังวลอยู่ไม่ใช่ท่านแต่ผมกังวลข้างนอกว่าประชาชนจะเข้าใจเราหรือไม่ เพราะอย่างไรประเทศไทยต้องเดินหน้าแบบนี้ ถ้ามีการปรับปรุงมันก็จะดีขึ้นเองบ้านเมืองของเรา สิ่งที่เป็นประโยชน์ผมรับได้ทั้งหมด ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่