“จึงรุ่งเรืองกิจ” แจงโครงการ “สมัครใจลาออก” ไทยซัมมิทออร์เดอร์หดจ่าย 18 เดือน

โควิด-19 ยังทุบอุตฯรถยนต์-ชิ้นส่วนต่อเนื่อง “ไทยซัมมิท” เริ่มแผนรัดเข็มขัดเปิดโครงการสมัครใจลาออกจ่ายสูงสุด 18.3 เดือน สภาอุตฯระบุคำสั่งซื้อลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี หวัง 9 โมเดลใหม่ช่วยประคองธุรกิจ

น.ส.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานอาวุโส กลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปิดโครงการสมัครใจลาออกของไทยซัมมิทและบริษัทในเครือเป็นไปตามภาวะของธุรกิจ เมื่อคำสั่งซื้อน้อยลงก็จำเป็นต้องปรับแผนผลิตให้สมดุลกัน ซึ่งตอนนี้บริษัทอยู่ระหว่างควบคุมต้นทุนโดยเฉพาะการลงทุนที่ไม่จำเป็น แต่ส่วนการลงทุนใหม่เพื่อรองรับรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ นั้นไทยซัมมิทยังคงเดินหน้าไปตามแผนงานที่ได้คอนเฟิร์มกับลูกค้าไว้

“ภาพรวมเศรษฐกิจที่หดตัว และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ค่อนข้างเยอะ ตอนนี้หลายบริษัทต้องเร่งปรับตัว” น.ส.ชนาพรรณกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากคำสั่งซื้อที่ลดลงมาตั้งแต่ต้นปีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค ประกอบด้วย บริษัท ไทยซัมมิท พีเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค จำกัด บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเคเอนจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค บางปะกง จำกัด ผู้ผลิตแชสซีและชิ้นส่วนเกี่ยวกับเฟรมให้กับผู้ผลิตรถยนต์หลายยี่ห้อ ทั้งรถปิกอัพและรถบรรทุก ได้ประกาศโครงการสมัครใจลาออกโดยเปิดรับพนักงานที่สนใจสมัคร ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค.-16 มิ.ย. 2563 โดยยอมจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายบวกเงินช่วยเหลือตามระเบียบบริษัทและเงินช่วยเหลือพิเศษรวมสูงสุด 18.3 เดือน ทั้งนี้ ให้พนักงานที่เข้าร่วมโครงการทำงานจนถึงวันที่ 20 มิ.ย. 2563 เป็นวันสุดท้าย

การลดจำนวนพนักงานเพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งซื้อที่ลดลง ผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและปรับแรงงานให้สอดรับกับงานที่ทำอยู่ โดยก่อนหน้านี้นายกรกฤช จุฬางกูร ประธานบริหาร บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด ยอมรับว่า ได้ส่งคืนพนักงานอัตราจ้างหรือซับคอนแทร็กต์ให้กับบริษัทจัดหางานจำนวนหนึ่งไปแล้วบางส่วน แต่โรงงานยังมีการจัดซื้อเครื่องจักรใหม่และขยายไลน์ผลิตรองรับรถยนต์รุ่นใหม่ 9 รุ่น ที่ค่ายรถยนต์จะทยอยทำคลอดในปีนี้

“ปีนี้ถือเป็นปีที่ยากลำบาก ปกติแล้วอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% ต่อปี แต่ย้อนหลังไป 5 ปี โตเพียง 2-3% ต่อปีเท่านั้น” นายกรกฤชกล่าว

เช่นเดียวกับผู้ผลิตรถยนต์หลายยี่ห้อก็มีโครงการลดกำลังการผลิต โดยพยายามเปิดเกษียณก่อนอายุงาน หรือโครงการสมัครใจลาออกเพื่อเปลี่ยนอาชีพใหม่

ด้านนายพินัย ศิรินคร ประธานกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงวันนี้ต้องยอมรับว่าคำสั่งซื้อชิ้นส่วนลดลง 5-10% ตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่การเกิดวิกฤตซับไพรมเมื่อปี 2552 ทั้งนี้ ประเทศไทยมีมูลค่าทางการค้าของยานยนต์ 20,726 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออก 18,175 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้า 2,552 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนมูลค่าการค้าชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยปี 2562 อยู่ที่ 46,055 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออก 24,371 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 21,684 ล้านเหรียญสหรัฐ

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่