ธปท.หวั่นปัญหา “เบี้ยวหนี้” ลามวงกว้างกระทบภาคการเงิน

กนง.จับตาการชำระหนี้ของ “ครัวเรือน-ธุรกิจ” หวั่นผิดนัดชำระเป็นวงกว้างลามกระทบภาคการเงิน-กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ชี้มาตรการการคลังต้อง “ตรงจุด-ทันการณ์” แก้ปมเลิกจ้างพุ่ง ยัน ธปท. พร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมในระยะต่อไปหากจำเป็น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 3/2563 ที่ประชุมไปเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2563 โดย กนง. เห็นควรให้ติดตามความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (liquidity risk) และด้านความมั่นคงทางการเงิน (solvency risk) ของครัวเรือนและธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพราะหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้เป็นวงกว้าง อาจส่งผลกระทบต่อผู้ให้กู้ ทั้งธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-banks) กองทุนรวม สหกรณ์ออมทรัพย์ และย้อนกลับมากระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้

อย่างไรก็ดี ระบบสถาบันการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง สามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ได้ รวมถึง ธปท. ได้มีมาตรการสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น Liquidity Coverage Ratio (LCR) และ Net Stable Funding Ratio (NSFR) ให้ต่ำกว่าร้อยละ 100 ได้ชั่วคราว ในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจ

ทั้งนี้ กนง.เห็นว่าสถาบันการเงินต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ (proactive debt restructuring) รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้า และให้ ธปท. ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเตรียมแนวทางรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นหากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้อยลงกว่าคาด เช่น การสร้างกลไกเพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย (multi-creditor) มีมาตรฐานและดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น การขยายบทบาทของบริษัทบริหารสินทรัพย์ (asset management company: AMC) ในการรองรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

โดย กนง. ยังเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อาจได้รับผลกระทบจากการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน ตลอดจนดูแลสภาพคล่องและกลไกการทำงานของระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพและกระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ

กนง. ยังเห็นว่ามาตรการด้านการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์มีความสำคัญและจำเป็นต่อการสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ SMEs เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรักษาศักยภาพการเจริญเติบโตในระยะต่อไป ทั้งนี้ หนี้สาธารณะของไทยในช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 ยังอยู่ในระดับต่ำ อายุหนี้เฉลี่ยยาวประมาณ 10 ปี และเกือบทั้งหมดเป็นหนี้ในสกุลเงินบาท นโยบายการคลังของไทยจึงยังมีขีดความสามารถในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางให้เหมาะสมหลังควบคุมการระบาดได้ ซึ่งอาจทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะต่อไปมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ยังสามารถบริหารจัดการได้ หากการกู้ยืมดังกล่าวเป็นการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและเพิ่มผลิตภาพในอนาคต นอกจากนี้ ต้นทุนทางการเงินของภาครัฐอยู่ในระดับต่ำตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล

โดยมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อจำเป็นต้องประสานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินมาตรการอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ระยะฟื้นฟู ควรดำเนินมาตรการที่เน้นการจ้างงาน สร้างรายได้ และสนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ก่อนที่มาตรการการเงินการคลังที่ออกมาในช่วงเยียวยาเศรษฐกิจจะทยอยสิ้นสุดลง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและศักยภาพการเติบโตในระยะยาว

นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐจะต้องสนับสนุนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการปรับตัวของผู้ประกอบการ ให้สอดคล้องกับรูปแบบการทำธุรกิจใหม่หลังจากการแพร่ระบาดคลี่คลายลงด้วย มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

ทั้งนี้ สามารถติดตาม “รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 3/2563” จากการประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ทั้งหมดได้ที่ https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/MonetPolicyComittee/ReportMPC/Pages/default.aspx

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่