“พิจารณ์” ตั้งข้อสังเกต ร่างพรบ.โอนงบฯ “โอนช้า-โอนน้อย-โอนทะลุกรอบ-โอนไม่จริง”

วันที่ 4 มิถุนายน 2563 ที่รัฐสภา (เกียกกาย) นายพิจารณ์ เชาว์พัฒนวงศ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปราย ร่าง พ.ร.บ. โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 88,000 โดยระบุว่า ภายใต้วิกฤตโควิด19 รัฐบาลจำเป็นต้องมีแผนยุทธศาสตร์ที่เป็นการระดมทรัพยากรทั้งหมดที่มีเพื่อกอบกู้และพลิกวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาส โดยภาพใหญ่ที่จะช่วยให้เกิดขึ้นคือการจัดสรรงบประมาณอย่างมียุทธศาสตร์ ประกอบด้วย พ.ร.ก. 3 ฉบับ รวมวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ วงเงิน 88,000 กว่าล้านบาท และที่สำคัญคือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ที่กำลังจะเข้าสภาในปลายเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งงบประมาณทั้งสามส่วนนี้ต้องมีความเกี่ยวข้องกัน และจำเป็นที่รัฐบาลต้องวางแผนการจัดสรรให้ดี อย่าได้ปล่อยให้แต่ละกระทรวงผลาญงบประมาณ ด้วยโครงการเดิมๆ ที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เพื่อแก้ไขวิกฤต ด้วยเหตุนี้ในการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ วงเงิน 88,000 กว่าล้านบาท ในครั้งนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการต้องพิจารณาและเสนอแนะให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณอย่างมียุทธศาสตร์ จึงจำเป็นต้องตั้งข้อสังเกตเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และพลิกวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสของประเทศไทยอย่างแท้จริง โดยมีข้อสังเกต 4 ข้อต่อร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฉบับนี้ คือ 1.โอนช้า 2.โอนน้อย 3.โอนทะลุกรอบ และ 4.โอนไม่จริง

นายพิจารณ์ กล่าวว่า ประเด็นแรก คือ โอนช้า พ.ร.บ.โอนงบประมาณฉบับนี้คืออนุสาวรีย์ของความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากเต็มไปด้วยความล่าช้า และส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนที่ต้องได้รับการเยียวยา 14 ล้านคน เนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 7 เมษายน ให้หน่วยงานเกลี่ยงบเพื่อเตรียมโอนงบประมาณ ซึ่งเป็นการออกคำสั่งหลังจากที่รัฐบาลอนุมัติงบกลางเดิมก้อนสุดท้ายหมดไปแล้วถึง 14 วัน

ประเด็นที่สอง คือ โอนน้อย โดยเมื่อเรามาพิจารณาถึงเม็ดเงินที่โอนได้ 88,000 ล้านบาทนี้ เอาเข้าจริงเป็นการโอนออกจากหน่วยงานรัฐเพียงแค่ 53,000 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนอีก 35,000ล้านบาท เป็นการชะลอการชำระหนี้ของภาครัฐหรือกล่าวได้ว่ารัฐบาลชักดาบชะลอการชำระหนี้ รวมถึงงบประมาณทีมีประโยชน์ต่อประชาชนโดนตัด แต่งบประมาณที่มีเอกชนมารองรับไม่ตัดเลย

ประเด็นที่สาม คือ โอนทะลุกรอบ ด้วยเม็ดเงินการโอนงบประมาณที่มากเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้สัดส่วนของงบประมาณ ไม่เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง จนทำให้ต้องมีการออกประกาศ ฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์เป็นประธาน มีการกำหนดว่า สัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง จากเดิมที่ต้องไม่เกิน 3.5% ก็เปลี่ยนเป็นไม่เกิน 7.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เนื่องจากการกำหนดสัดส่วนแบบนี้จะมีผลให้รัฐบาลสามารถกำหนดงบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินสูงกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้การที่งบกลางเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการสั่งจ่าย จะไม่ต้องผ่านการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือสภาผู้แทนราษฎร และสิ่งที่น่ากังวลเพิ่มเติมคือประกาศฉบับนี้ ยังไม่ได้กำหนดวันเวลาสิ้นสุดที่แน่นอนอีกด้วย

ประเด็นสุดท้าย คือ โอนไม่จริง การปรับลดงบประมาณดังกล่าว ไม่ใช่การตัดโครงการที่ไม่จำเป็นออก แต่เป็นการผัดผ่อนการจ่ายเงินในงวดแรกให้น้อยลง พูดง่ายๆก็คือเป็นการดาวน์น้อยในปีแรก แต่ไปผ่อนหนักในปีต่อๆไป โดยตัวอย่างของกระทรวงที่มีการโอนงบประมาณ แบบดาวน์น้อย ผ่อนหนักได้หนักหน่วงมากที่สุด คือ กระทรวงกลาโหม ที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นเจ้ากระทรวง เมื่อดูจากยอดโอนงบประมาณ พบว่า มีการโอนออกมากเป็นอันดับที่สอง แต่เอาเข้าจริงเป็นแค่การเล่นแร่ แปรธาตุ แหกตาประชาชน เพราะว่าเกือบ 40% ของยอดที่กระทรวงกลาโหมตัดโอนออกนั้น มาจากการตัดเงินดาวน์งวดแรกของงบผูกพันข้ามปี ยิ่งไปกว่านั้นกระทรวงกลาโหม เป็นกระทรวงเดียวในรัฐบาลนี้ที่ฝืนมติ ครม.ด้วยการลดยอดเงินงวดแรกจากที่ต้องจ่าย 15% ของยอดโครงการ เป็น 10% เท่านั้น และเมื่อไปดูในรายละเอียด ภายใต้ “โครงการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ” ซึ่งแผนงานทั้งหมดภายใต้โครงการนี้ เป็นการจัดหาหรือซ่อมปรับปรุงยุทโธปกรณ์ 30 โครงการและทั้งหมดเป็นการก่อหนี้ผูกพันข้ามปี ซึ่งจาก 30โครงการดังกล่าวพบว่า มี 6โครงการที่ไม่มีการจ่ายเงินในงวดแรก แล้วหนึ่งในนั้นคือ โครงการซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจ ว่าจะดีใจได้หรือเปล่า เพราะไม่รู้ว่าโครงการนี้จะถูกนำกลับมาเสนออีกครั้งหรือไม่ในปีงบประมาณ 2564

นายพิจารณ์ กล่าวว่า จากข้อสังเกตทั้ง 4 ข้อจึงนำมาสู่ข้อเสนอแนะของพรรคก้าวไกล 5 ข้อดังต่อไปนี้ 1. เพื่อให้การพิจารณางบประมาณมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขอเรียกร้องให้ สำนักงบประมาณ เผยแพร่ข้อมูลและรายละเอียดในวาระที่ 1 ให้เหมือนกับที่มีในชั้นกรรมาธิการในรูปแบบของดิจิตอลไฟล์ ซึ่งจะทำให้การพิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณ เป็นไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น 2.เสนอให้นำงบกลางใหม่ 88,000 ล้านบาทนี้ ไปใช้ในการเยียวยาพี่น้องประชาชนเพราะจนถึงวันนี้การเยียวยาก็ยังไม่ถ้วนหน้า ยังมีพี่น้องประชาชนตกหล่นอีกเป็นจำนวนมาก 3.เสนอให้ใช้กลไกของ กมธ.วิสามัญ ติดตามงบประมาณและมาตราแก้ไขปัญหาโควิด-19 ติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณในส่วนของงบกลางก้อนใหม่นี้ด้วย 4.คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นประธานจำเป็นต้องแก้ประกาศ ฉบับวันที่ 16 เมษายน โดยต้องกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าประกาศฉบับดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อใด และ 5. รัฐบาลควรจัดลำดับความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณใหม่ เพื่อความมั่นคงของชาติในความหมายใหม่ ซึ่งไม่ใช่ความมั่นคงทางด้านการทหารอีกแล้ว แต่ควรเป็นความมั่นคงต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชน

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่