“ปิยบุตร” ชี้ปมรับรองอดีต สนช. นั่งกก.ปปช. เป็นความผิดเพี้ยนของรธน. เตรียมร่วมถกเข้ม ‘ส.ว.มีไว้ทำไม’

วันที่ 4 มิถุนายน 2563 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึง กรณีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีมติให้นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง มีนบุรี ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 57 มาตรา 6 วรรคสอง รับรองไว้ชัดเจนว่า ให้ สนช. ทำหน้าที่เป็นรัฐสภา ส.ส. และ ส.ว. เมื่อรัฐธรรมนูญ 60 ประกาศใช้ แต่ยังไม่มี ส.ส. และ ส.ว. ในบทเฉพาะกาล มาตรา 263 ก็รับรองให้ สนช. ทำหน้าที่ รัฐสภา ส.ส. ส.ว. ไปก่อน นอกจากนี้อยากให้ไปย้อนดูจุดเริ่มต้นของ สนช. หน่วยธุรการที่เขานำไปใช้ก็คือสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ที่ประชุมก็เป็นของวุฒิสภา นี่ถือเป็นนัยยะสำคัญอันหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า สนช. เท่ากับ ส.ส. หรือ ส.ว.

นี่ถือเป็นความผิดเพี้ยนของรัฐธรรมนูญ ด้านหนึ่งต้องรักษาความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ ไม่มีส่วนได้เสีย แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้น เพราะระบบการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ผมเรียกว่าเป็นระบบผลัดกันเกาหลัง วนกันอยู่เพียงกลุ่มคนเดิมๆ ส.ว. ก็เลือกนายสุชาติ ซึ่งเคยเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งปัญหาต่อมาก็คือไม่รู้ว่าจะให้องค์กรไหนวินิจฉัย และวินิจฉัยแล้วต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน วินิจฉัยแบบใดก็ควรจะรักษาบรรทัดฐาน ไม่ใช่เปลี่ยนไปตามที่ต้องการ ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ก็มีมาตรฐานไปอีกแบบหนึ่ง เช่น ตัดสิทธิ์ผู้ที่เคยเป็น สนช. จะไม่สามารถดำรงตำแหน่ง กสม. ได้

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า พรุ่งนี้วันที่ 5 มิ.ย. หากจำกันได้มีการเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดย 500 เสียง มี 249 เสียงเป็นวุฒิสภา เว้นประธานวุฒิสภาที่งดออกเสียง ซึ่ง ส.ว. เหล่านี้มาจากการเลือกโดย คสช. จึงชัดเจนที่สุดว่าวุฒิสภาชุดนี้ตั้งมาเพื่อการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ถ้าไม่ชัดพอก็ไปดูเอกสารต่างๆ ตอนยกร่างรัฐธรรมนูญ 60 ว่าต้องการมีวุฒิสภาเพื่อประกันการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นายปิยบุตร กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (5 มิ.ย.) คณะก้าวหน้าจะเปิดแคมเปญ “ส.ว. มีไว้ทำไม?” อย่างเป็นทางการ และวันที่ 6 มิ.ย. จะมีการจัดเสวนาออนไลน์โดย New Consensus ซึ่งเชิญตนไปร่วมเสวนา พร้อมกับ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา ปี 40 จากการเลือกตั้งและอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 50 และ พริษฐ์ วัชรสินธุ มาร่วมเสวนาด้วย เพื่อให้สังคมพิจารณาว่า ส.ว. ที่ทำหน้าที่มาแล้ว 1 ปี เพื่อประกันการสืบทอดอำนาจ สังคมจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ต่อไป วุฒิสภาแบบนี้ยังมีความจำเป็นต่อประเทศไทยหรือไม่

นายปิยบุตร กล่าวถึง การฟ้องคดีความและการใช้กระบวนการทางกฏหมายว่า “ตั้งแต่ยุบพรรคอนาคตใหม่มา ผมเองก็ยังมีคดีความค้างคา ได้แก่ เรื่องดูหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญจากกรณีวิจารณ์การยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) นอกจากนี้ยังได้ทราบข่าวว่ามี ส.ส. บางท่านไปแจ้งความเพิ่มอีกหลายเรื่อง ไม่เคยคิดว่าการมาเป็นนักการเมืองจะถูกฟ้องมากขนาดนี้ กฎหมายหมิ่นประมาทออกมาเพื่อคุ้มครองตัวบุคคล แต่ไม่ได้มีไว้เพื่อกลั่นแกล้งหรือปิดปากคนอื่น โดยเฉพาะกับบุคคลที่เป็นบุคคลสาธารณะซึ่งใช้อำนาจรัฐด้วย ควรจะมีความอดทนอดกลั้น ไม่เช่นนั้นก็ไม่ควรมาเล่นการเมือง เพราะในระบบประชาธิปไตยการแสดงความคิดเห็นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ”

ปิยบุตรตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ดัชนีการใช้เสรีภาพในการแสดงออกลดลงเป็นอย่างมาก ปัจจุบันนี้มีคดีความเกิดขึ้นทุกวัน หน่วยงานของรัฐเองก็ใช้ ม.116 เกี่ยวกับการยุยงปลุกปั่น ใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นศาลบ้าง ในส่วนบุคคลทั่วไปก็เอากฏหมายหมิ่นประมาทมาใช้กัน ฟ้องจนเฝือไปหมด นานวันเข้าการกระทำลักษณะแบบนี้จะกลายเป็นการใช้กฏหมายปิดปากไม่ให้ใครวิพากย์วิจารณ์ หลังๆ จนถึงขั้นมาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายตรวจสอบกันยังมีการเอาไปแจ้งความหมิ่นประมาทเลย พูดกันที่สภาฯ แห่งนี้ แต่ไปแจ้งที่ จ.พะเยา มิหน้ำซ้ำยังมีการข่มขู่ว่าจะไปฟ้องที่ จ.นราธิวาสเพราะมีบ้านอยู่ที่นั้นด้วย

“นอกจากนี้ยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนวิพากย์วิจารณ์เกี่ยวกับการโยกย้ายพรรค ผมทราบข่าวมาว่า ส.ส. พรรคก้าวไกล หลายคนถูก ส.ส. ที่เป็นอดีตเพื่อนร่วมพรรคกันที่ย้ายไปพรรคอื่นแล้ว ก็เที่ยวไปแจ้งความว่าไปหมิ่นประมาทเขา ตกลงว่านักการเมืองจะไม่ทำอะไรอย่างอื่นนอกจากค้าความกัน จะฟ้องกันไปมาอย่างนี้หรือ สุดท้ายผลประโยชน์ของประชาชนอยู่ตรงไหน ผมจึงเห็นว่าเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกเป็นเรื่องสำคัญ” ปิยบุตร กล่าว

ผมเองตั้งแต่เข้ามาทำงานการเมืองถูกโจมตีและวิพากย์วิจารณ์อย่างหนักมาโดยตลอด ไม่น้อยไปกว่าใคร แต่จนถึงวันนี้ผมไม่เคยฟ้องหมิ่นประมาทใครเลย เพราะผมเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยต้องถูกตรวจสอบวิพากย์วิจารณ์ได้ และสังคมจะเป็นคนตัดสิน

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่