‘ประยุทธ์’ เผย ศธ.เสนอ โควิดไม่คลี่คลาย พร้อมจัดเรียนทางไกล นับ ชม.เรียน

มาอีกแล้ว ‘ประยุทธ์’ เผย ศธ.เสนอหากสถานการณ์โควิดไม่คลี่คลาย เตรียมพร้อมจัดการเรียนการสอนทางไกล ชี้นับเวลาเรียน 1 ก.ค.-16 พ.ย. ให้สถานศึกษาบริหารจัดการให้เหมาะสมหากเวลาไม่พอ

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงเรื่องการศึกษา ว่า ต้องเข้าใจว่าขณะนี้เรามีปัญหาจากโควิด-19 ซึ่งทางกระทรวงศึกษาได้เสนอมาตรการต่างๆ มามากมายเพื่อไม่ให้เกิดประเด็นความขัดแย้งหรือไม่เข้าใจกันต่อไปในเรื่องของการนับเวลาเรียน เราก็ยังคงนับเวลาเรียนตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป และไปสิ้นสุดในวันที่ 16 พ.ย. ซึ่งถือเป็นเวลาที่ปกติ และหากจะพอหรือไม่พออย่างไรก็เป็นเรื่องของสถานศึกษาที่จะไปบริหารจัดการด้วยวิธีการที่เหมาะสมเพื่อเปิดสอนชดเชยให้ครบตามโครงสร้างเวลาเรียน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ส่วนเรื่องการสอนชดเชย ขอให้บริหารจัดการตามบริบทและความเหมาะสม ทั้งประถมศึกษา มัธยมตอนต้น มัธยมศึกษาปลาย สถานศึกษาต่างๆ หากจะเรียน จะสอนทางไกลก็ต้องจัดตารางสอนให้ชัดเจนเพื่อนำมาใช้นับชั่วโมงการเรียนได้

“สำหรับการอนุมัติการจบการศึกษา ให้อนุมัติภายใน 9 เม.ย.64 หากมีผลการเรียนไม่สมบูรณ์ให้สามารถดำเนินการวัดประเมินผลให้เสร็จสิ้นอนุมัติจบการศึกษาภายในวันที่ 15 พ.ค. ทั้งนี้ ในเรื่องการจัดการเรียนการสอนทางไกลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้นำผลจากการดำเนินการในระยะที่ 1 และที่ 2 ไปปรับปรุงพัฒนาเพื่อดำเนินการในระยะที่ 3 ในวันที่ 1 ก.ค.63-30 เม.ย.64 เพื่อใช้สำหรับ 2 สถานการณ์นี้คือ 1.หากสถานการณ์ไม่คลี่คลาย ก็จำเป็นต้องไปหาวิธีการที่จะสอนระดับปฐมวัยถึงมัธยมศึกษาตอนต้นด้วยระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบดิจิทัล ดาวเทียม เคเบิลทีวี และไอพีทีวี 15 ช่อง ต้องหาวิธีการที่เหมาะสม เตรียมความพร้อมต่างๆ ตอนนี้เป็นช่วงของการทดลอง แน่นอนว่าต้องมีอุปสรรคอะไรที่ไม่เคยทำ เพราะสถานการณ์ที่เกิดมันฉุกเฉินและมีกรณีเร่งด่วน 2.หากสถานการณ์คลี่คลาย การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนก็จะเป็นปกติ แต่ตอนนี้ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม และมีมาตรการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด”

นายกฯกล่าวว่า สำหรับการวัดและการประเมินผล ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย หลายมาตรการ ทั้งการสังเกต การสัมภาษณ์ ให้ข้อมูล ตรวจเยี่ยมบ้าน ประสานข้อมูลจากผู้ปกครอง ใช้การทดสอบรูปแบบต่างๆ ส่งผลการประเมินจากอีเมล์ การจัดทำตารางนัดหมายเป็นกลุ่มเล็กๆ ซึ่งแนวทางเหล่านี้เสนอมาโดยกระทรวงศึกษา และทาง สพฐ.ก็เห็นชอบในการเสนอนี้แล้ว อย่างไรก็ตาม มีรายการที่จะเป็นภาระในกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเพิ่มเติมในช่วงสถานการณ์โควิดนี้ก็จะต้องเพิ่มเติมจากการดำเนินการตามโครงการกำหนดค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งมีอยู่แล้ว เอามาปรับดูกันว่าจะทำอย่างไร ครูจะมีเบี้ยเลี้ยงหรือค่าน้ำมัน ที่ไปติดตามหรือเยี่ยมบ้านนักเรียนหรือไม่ ซึ่งถ้าจำเป็นขนาดนั้นก็ต้องทำ ต้องดูแลทั้งครูและนักเรียนด้วย หากสถานการณ์ไม่ยุติ แต่ถ้าสถานการณ์ยุติก็จบหมด ทุกอย่างก็มาที่โรงเรียน

ส่วนการดูแลเด็กนักเรียนที่พิการและเด็กด้อยโอกาส จะมีคณะกรรมการดำเนินการอยู่ ซึ่งส่วนนี้อาจจะต้องมีการจ่ายเงินสดให้กับผู้ปกครองไปดูแล เป็นงบประมาณจากกระทรวงศึกษาที่ดูแลนักเรียนประจำหรือไป-กลับ


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่