ส่อขัด รธน.! ส.ว.โหวต ‘สุชาติ’ ป.ป.ช.ใหม่ พบพ้น สนช.ไม่ถึง 10 ปี เจษฎ์ชี้ เข้าข่ายเพื่อนช่วยเพื่อน

ส่อขัด รธน.! ส.ว.โหวตผ่าน ป.ป.ช.ใหม่ ‘สุชาติ ตระกูลเกษมสุข’ แต่สเปกไม่เทพพอ พ้น สนช.ไม่ถึง 10 ปี ด้านที่ปรึกษา กรธ.อัด เพื่อนช่วยเพื่อน ขัดผลประโยชน์

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีที่ที่ประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) ลงมติเห็นชอบให้ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ 2560 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือไม่ เนื่องจากนายสุชาติเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ดังนั้น นายสุชาติจึงพ้นตำแหน่งได้เพียง 1 ปี ขณะที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 11(18) บัญญัติว่า กรรมการ ป.ป.ช.ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะ 10 ปีก่อนเข้ารับการสรรหา

นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยมีความเห็นว่า สนช.ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่บัญญัติให้ สนช.ทำหน้าที่ ส.ส.และ ส.ว. จึงมีหน้าที่ยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ด้วย ขณะที่มาตรา 263 รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติว่า ในระหว่างที่ยังไม่มี ส.ส.และ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ สนช.ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา ส.ส.และ ส.ว.ต่อไป และให้สมาชิก สนช.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทำหน้าที่สมาชิก ส.ส.หรือสมาชิก ส.ว.ตามลำดับ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และให้ สนช.และสมาชิก สนช.สิ้นสุดลงในวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ด้าน นายเจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการนิติศาสตร์ อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 263 ให้อำนาจ สนช.ทำหน้าที่เป็น ส.ส.และ ส.ว. หากตีความเป็น ส.ส.และ ส.ว.ก็เข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหรือเคยเป็น ส.ส. ส.ว. หรือข้าราชการการเมืองในระยะเวลา 10 ปี จึงไม่สามารถเป็นองค์กรอิสระได้ แต่ถ้าหากตีความว่า สนช.ทำหน้าที่แทน ส.ส.และ ส.ว.เฉยๆ ไม่ถือว่าเป็นนั้น ก็จะไม่เข้าลักษณะต้องห้าม ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า สนช.ทำหน้าที่เหมือน ส.ส.และ ส.ว. มีสวัสดิการ เงินเดือนเทียบเท่าทุกอย่าง จึงถือว่าผู้ที่เคยเป็น สนช.ยังไม่พ้นระยะเวลา 10 ปี ย่อมไม่สามารถดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระได้ อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 เปิดโอกาสให้คนเป็น สนช.สามารถเป็น ส.ว.ได้ สุดท้ายก็มี สนช.ได้เป็น ส.ว.จำนวนมาก จากนั้นก็มีอดีต สนช.ลงสมัครองค์กรอิสระ และสุดท้ายก็ได้รับเลือก ซึ่งเหมือนกับเพื่อนช่วยเพื่อน ถือว่าขัดกันแห่งผลประโยชน์ แม้สุดท้ายอาจจะไม่ผิดรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องที่น่าวิเคราะห์ต่อไปว่าเหมาะสมหรือไม่


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่