“วรรณวรี” ชี้ ซอฟท์โลน มี 2 ประเด็นปัญหา วอนรัฐบาลอย่าทิ้งธุรกิจรายเล็ก

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 ที่รัฐสภา (เกียกกาย) น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปราย พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โดยระบุว่า พ.ร.ก. ดังกล่าว มี 2 ประเด็นใหญ่ที่จะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี คือ1.การไม่กำหนดธุรกิจเอสเอ็มอีตามความเดือดร้อน และ 2.เงื่อนไขของธุรกิจเอสเอ็มอีที่ควรจะได้รับวงเงินการช่วยเหลือ

น.ส. วรรณวรี กล่าวว่า ในประการที่ 1. เรื่องการไม่กำหนดธุรกิจตามความเดือดร้อน จากที่ได้คุยกับผู้ประกอบการหลายรายในหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจร้านอาหารแห่งหนึ่ง ปกติยอดขาย 15 ล้านบาทต่อเดือน จ้างงานประมาณ 200 คน เมื่อโควิดมายอดขายลดลงเรื่อยๆ ต้องปลดพนักงาน 50% บางส่วนต้องลดเงินเดือนและชั่วโมงทำงาน พยายามปรับตัวโดยทำอาหารส่งเดลิเวอรี่ แต่ยอดขาย 2 เดือนที่ผ่านมาเหลือเพียงเดือนละ 2 แสนบาท รายได้หายไปถึง 98% ส่งผลให้เงินไม่พอจ่ายหนี้ธนาคาร จึงไปขอพักชำระหนี้เพียงงวดเดียว และเมื่อได้ข่าวมาตรการตาม พ.ร.ก.นี้ จึงไปขอยื่นกู้เแต่ธนาคารกลับไม่อนุมัติ โดยให้เหตุผลว่าไม่มั่นใจในธุรกิจ นี่คือตัวอย่างที่สะท้อนข้อบกพร่องของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ที่เขียนนิยามเอสเอ็มอีที่ควรได้รับการช่วยเหลือไว้แบบไม่ระบุความเดือดร้อน นิยามคำว่าเอสเอ็มอี ว่าเป็นวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาทนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นการนิยามที่ไม่เฉพาะเจาะจงความเดือดร้อน ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเป็นผู้มาพิจารณาเลือกเอสเอ็มอีเอง โดยออกแบบเงื่อนไขและใช้วิจารณญาณกันเอง ซึ่งแต่ละธนาคารพาณิชย์ก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป

“ดิฉันยังมีโอกาสไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งได้ทราบข้อมูลมาว่า ธนาคารเลือกที่จะปล่อยกู้เงินให้กับผู้กู้ชั้นดี โดยมีการแบ่งดังนี้ จะปล่อยให้กับเกรด Super A ก่อน เป็นลูกค้ารายกลางและรายใหญ่ ชั้นดีสุดมีบัญชีเดียว จ่ายตรงทุกงวด และบัญชีมีกำไรทุกปี วิธีการคือธนาคารจะโทรไปเสนอสินเชื่อให้เลย ในขณะเดียวกันมีข้อมูลระบุว่า ลูกค้ากลุ่มนี้จะขอรับสินเชื่อแค่ 30% อีก70% ไม่ได้เดือดร้อน ลำดับต่อมาคือจะปล่อยกู้ให้กับกลุ่มเกรด A คือลูกค้าชั้นดี ที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งธนาคารจะโทรมานำเสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำก้อนนี้ให้เช่นเดียวกัน เพียงตอบว่ารับหรือไม่ หลังจากนั้นธนาคารจะทำเรื่องให้ทั้งหมด ซึ่งเจ้าของกิจการหลายคนไม่ได้เดือดร้อน แต่ก็ขอรับไว้เนื่องจากดอกเบี้ยต่ำ บางรายในยังได้เอาเงินก้อนนี้ไปปล่อยกู้ต่อ นอกจากนี้ยังมีลูกหนี้กลุ่มเฝ้าระวัง ซึ่งธุรกิจร้านอาหารนี้จัดอยู่ในประเภทนี้เพราะผิดนัดชำระหนี้เพียงหนึ่งครั้ง โดยธนาคารจะบ่ายเบี่ยงและไม่ปล่อยกู้ให้ แท้จริงแล้วควรเป็นกลุ่มแรกที่ธนาคารต้องปล่อยกู้ให้ เพื่อเป็นไปตามเป้าหมายของ พ.ร.ก. ฉบับนี้” น.ส.วรรวรี กล่าว

อุ้มผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่ารายย่อย- ชี้ควรศึกษากรณี ตปท.

น.ส.วรรณวรี กล่าวว่า ปัญหาประการที่ 2 คือ เงื่อนไขของธุรกิจที่ควรจะได้รับวงเงินการช่วยเหลือ ซึ่งการให้วงเงินต้องมีวงเงินกับธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ยกตัวอย่าง ธุรกิจร้านนวดที่ตนได้มีโอกาสไปรับฟังปัญหามา ร้านนวดดังกล่าวมี 3 สาขา เป็นธุรกิจเพื่อสังคมโดยใช้หมอนวดที่เป็นคนตาบอด เจ้าของใช้เงินทุนส่วนตัวลงทุนไม่ได้กู้ธนาคาร มีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว พอเจอโควิดร้านได้รับผลกระทบเต็มๆ จึงต้องการเงินมาหมุนเพื่อต่ออายุและเพิ่มสภาพคล่องให้กิจการผ่านพ้นโควิด แต่ไม่สามารถกู้ได้ เพราะไม่เคยมีวงเงินกับธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ ขอตั้งคำถามฝากไปยังรัฐบาลว่า ประเทศนี้มีเอสเอ็มอี 3 ล้านราย แต่มีเพียง 5 แสนกว่ารายเท่านั้นที่มีวงเงินกับธนาคาร คิดเป็น 17% เท่านั้น แล้วผู้ประกอบการที่เหลืออีก 2 ล้านกว่าราย พร้อมกับลูกจ้างเฉลี่ยรายละ 4 คน รวมเป็น 10 ล้านคน รัฐบาลจะทิ้งเขาไปได้อย่างไร

“มีกรณีศึกษาต่างประเทศในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี หลายประเทศที่ให้สินเชื่อพิเศษกับผู้ประกอบการที่ไม่ได้มีวงเงินกับธนาคารพาณิชย์และรัฐช่วยค้ำประกันให้ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ให้สินเชื่อกับ Micro SMEs แบบไม่ต้องมีหลักประกันและไม่คิดดอกเบี้ยโดยรัฐค้ำให้ถึง 100% อย่างไรก็ตาม วงเงินตาม พ.ร.ก.นี้เป็นตัวเลขมหาศาล หากปล่อยสินเชื่อรายเล็กอย่างร้านนวดที่ยกตัวอย่างไป สามารถช่วยร้านนวดในประเทศไทยที่มี 4 หมื่นรายได้ทั้งหมด และยังไปช่วยธุรกิจอื่นได้อีก แต่กลับกลายเป็นว่า กลุ่มที่จะได้รับผลประโยชน์จากเงินก้อนนี้คือ กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีชั้นดีขนาดกลางค่อนไปทางใหญ่ ที่บางรายไม่ได้เดือดร้อนจริงด้วยซ้ำ และหลายต่อหลายครั้งที่เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ รัฐจะเลือกอุ้มกลุ่มทุนใหญ่ก่อนเสมอทุกครั้งไป และได้ทราบมาด้วยว่า ตอนนี้ร้านนวดเจ้าใหญ่ที่มีสาขาจำนวนมากเตรียมซื้อกิจการจากร้านอื่นๆ และจะเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ นั่นหมายความว่าการแข่งขันในธุรกิจร้านนวดจะน้อยลง” น.ส.วรรณวรี กล่าว

แนะรัฐออกมาตรการลดค่าเช่า – แบ่งเบาค่าจ้างช่วยธุรกิจเล็ก

น.ส.วรรณวรี กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกเหนือจากนโยบายที่เป็นลักษณะการให้เงิน ยังมีการช่วยเหลือรูปแบบอื่นที่รัฐสามารถทำได้ โดยไม่ต้องอัดฉีดเงินเข้าไป คือการช่วยลดภาระรายจ่ายของเอสเอ็มอี ซึ่งตอนนี้ปัญหาหลักที่เหมือนกันในทุกกิจการคือ รายได้ลดลงแต่รายจ่ายเท่าเดิม จึงเสนอให้รัฐช่วยลดรายจ่ายต่างๆ ที่มาจากรัฐ เช่น ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีต่างๆ ได้แก่ 1.มาตรการลดค่าเช่า โดยขอให้เจ้าของห้างลดค่าเช่าและห้ามไล่ผู้เช่าออกภายในระยะเวลา1 ปี โดยรัฐช่วยลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ 2.ช่วยแบ่งเบาเรื่องค่าจ้าง เช่นรัฐช่วยจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 50% รายละไม่เกิน 5,000 บาท สำหรับลูกจ้างที่รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทต้องรักษาการจ้างงานเท่าเดิม ณ.สิ้นปีนี้

“การเขียน พ.ร.ก.บนหอคอยงาช้าง ไม่ได้เข้าใจความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ ถ้าธุรกิจขนาดเล็กผ่านวิกฤตนี้ไปไม่ไหว คือพูดสั้นๆ ว่ากิจการรายเล็กๆ คงต้องเจ๊ง แต่แค่ประโยคสั้นๆ นี้ ไม่ใช่มีความหมายแค่ความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจ แต่หมายถึงการแข่งขันทางธุรกิจที่ลดลง หมายถึงความเหลื่อมล้ำที่ยิ่งถ่างออก หมายถึงโอกาสที่ริบหรี่มากขึ้นไปอีกสำหรับคนตัวเล็กตัวน้อย และหมายถึงมีคนต้องอดตาย โควิดไม่ใช่ผู้ร้ายแต่เพียงผู้เดียวที่ทำให้เศรษฐกิจพัง แต่การรับมือจากโควิดโดยใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่ยาวนานนี่แหล่ะที่ทำให้ประเทศนี้พัง ถ้าเลือกที่จะปิดเมืองต้องประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะตามมาเป็นโดมิโน่ สุดท้ายดิฉันอยากจะเรียกร้อง ขอร้องว่ารัฐบาลอย่าทิ้งธุรกิจรายเล็กให้ล้มหายตายจากไป เพราะสำหรับคนหลายคน การสร้างธุรกิจขึ้นสักอย่าง นั่นหมายถึงเขาต้องทุ่มชีวิตทั้งชีวิต ทุ่มเงินทั้งหมดที่มี และถ้ามันต้องตายไป อาจไม่มีวันสร้างใหม่ และไม่มีวันฟื้นคืนกลับมาได้อีกเลย” น.ส.วรรณวรี กล่าว