“ศิริกัญญา” เชื่อหลังโควิด “คนจนยิ่งจนลง ชนชั้นกลางหาย” ชี้ยุทธศาสตร์ฉีกทิ้งเขียนใหม่ได้เลย

วิกฤตซ้อนวิกฤต “ศิริกัญญา” ชี้ประเทศไทยหลังโควิด “คนจนยิ่งจนลง ชนชั้นกลางหาย” ลั่นต้องตั้งเป้าแผนฟื้นฟูให้ชัด – ไม่ทำแบบเดิม หนุน พ.ร.บ.ฟื้นฟูการจ้างงาน – สร้างกลไกตรวจสอบการใช้เงิน

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ที่ อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ร่วมอภิปราย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563 โดยระบุว่า วิกฤตครั้งนี้ต่างจากที่ผ่านมา วิกฤตต้มยำกุ้งสั่นสะเทือนโครงสร้างส่วนบน สถาบันการเงิน ในครั้งนี้เป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต เพราะเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวมาตั้งแต่ปีก่อนแล้ว รายได้ของแรงงานและรายได้เกษตรกรก็ซบเซาอยู่ก่อนแล้ว สภาพประเทศไทยหลังวิกฤต โควิด-19 เรากำลังจะเจอกับสถานการณ์ที่คนมีรายได้ลดลง จากงานวิจัยของ สกว.ที่ทำการสำรวจคนจนเมือง พบว่า คนส่วนใหญ่รายได้ลดลงเกือบทั้งหมด 1 ใน 3 รายได้ลดลงไปครึ่งหนึ่ง สถาบันทีดีอาร์ไอได้ทำประมาณการไว้ว่าถ้ารายได้ประชาชนที่มีรายได้น้อยลดลงไปสัก 30% จะทำให้คนจนเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า สภาพัฒน์ประกาศว่าจะมีกลุ่มเสี่ยง 8.4 ล้านคน และจะว่างงานราว 2 ล้านคน นั่นคือประมาณการแบบมองโลกในแง่ดี สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และสมาคมธนาคารไทยประเมินไว้ที่ 7 ล้านคน เมื่อเงินในกระเป๋าหายก็ต้องก่อหนี้เพิ่ม ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมา 1 ล้านล้านนี้ยังเป็นแค่หนี้ในระบบ ยังไม่นับนอกระบบว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ แน่นอนว่าเมื่อคนจนยิ่งจนลงไปอีก ชนชั้นกลางจะหดหาย ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นก็จะตามมา ไม่ใช่แค่ภาคครัวเรือนที่จะเจ็บหนักแต่ยังมีผู้ประกอบรายเล็กรายย่อยที่จะล้มหายตายจากไปอีก 20-30% หนี้ภาคธุรกิจที่ถูกแช่แข็งเอาไว้ 6 เดือน พอเปิดตู้เย็นออกมาดูอีกทีก็ไม่แน่ใจว่าจะอยู่ในสภาพที่ยังไปต่อได้หรือไม่
“อีกปัจจัยที่ทำให้วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ต่างออกไปจากครั้งก่อนก็คือผลกระทบนั้นเป็นวงกว้างแบบที่ทุกประเทศโดนกันถ้วนหน้าแต่อาจจะมากน้อยต่างกัน ถ้าติดตามข่าวเศรษฐกิจในต่างประเทศจะเริ่มเห็นกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เคยเป็นระเบียบเศรษฐกิจโลกกำลังถูกคุกคาม ท้าทาย และย้อนกระแส ทุกประเทศเบนเข็มย้อนกลับไปหาเศรษฐกิจในประเทศของตัวเอง ทั้งจากความกังวลเรื่องความมั่นคงด้านสาธารณสุข อาหาร และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต่อจากนี้ไปรัฐบาลของทุกประเทศจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ไม่ใช่แค่จากการใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังเข้าไปอุ้มธุรกิจที่เป็นเรือธงของประเทศตัวเองกันอย่างเปิดเผย อเมริกาอัดฉีดเงินให้กับโบอิ้ง ฝรั่งเศสเข้าอุ้มบริษัทรถยนต์ที่รัฐถือหุ้นอย่างเรโนลท์ ทำให้บริษัทเหล่านี้ได้เปรียบคู่แข่งที่รัฐไม่ได้ช่วยเหลือ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

ยังไม่เห็นเป้าหมายที่ชัดจากแผนฟื้นฟู – ลั่นทำแบบเดิมไม่ได้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เมื่อเรามาดูนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่นำเสนอโดยประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ก็ต้องเกิดคำถามในใจว่าแล้วจะตอบโจทย์ที่เรากำลังจะเผชิญหลังจากนี้ได้อย่างไร หรือว่านี่ถอดมาจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งต้องบอกว่าฉีกทิ้งแล้วเขียนใหม่ได้เลยสำหรับยุทธศาสตร์ชาติ เราใช้ได้ไม่ถึง 20 ปีแน่ๆ เราทำแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไปในสถานการณ์แบบนี้ เฉพาะแผนงานฟื้นฟูเราอยากเห็นเป้าหมายที่ชัด ว่าเราจะได้อะไรจากแผนงานมูลค่า 4 แสนล้านบาท ตกลงแล้วจะสร้างรายได้ประชาชนขึ้นมาเท่าไหร่ และสร้างงานกี่งานที่รัฐจ้างเอง เมื่อวานท่านหลุดพูดออกมาแล้วว่าจะจ้างงานพาร์ทไทม์ 2-3 แสนล้านบาท ทักษะแบบไหน งานในอนาคตแบบไหนที่เราต้องการ เซกเตอร์ไหนได้ไปต่อ เซกเตอร์ไหนต้องเริ่มปรับตัว และรัฐบาลจะช่วยให้เค้าปรับตัวได้อย่างไรบ้าง แล้วจะช่วยฟื้นฟูประเทศได้จริงหรือไม่ แต่อ่านเท่าไร หาข้อมูลเท่าไรก็ไม่เจอ
“ส่วนประเด็นเรื่องการประเมินผลที่ตั้งมา เป็นการตัดเกรด A B C D ประเมินแบบหยาบๆ เท่านั้น ต้องมีการประเมินในภาพรวมด้วย เพราะมันไม่สามารถที่จะเอาผลของแต่ละโครงการมารวมๆ กัน แล้วบอกผลการประเมินในภาพรวมได้ แต่จะประเมินอะไรไม่ได้ ถ้าทางรัฐบาลไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ชัดมากพอ ทั้งนี้ อยากชวนย้อนไปดู แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่มีเม็ดเงินใกล้เคียงกับตอนนี้คือ 400,000 ล้านบาท แต่สุดท้ายที่มีการเบิกจ่ายจริงจะอยู่ที่ประมาณ 300,000 ล้านบาท ไทยเข้มแข็งมีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน ซึ่งผ่านมาแล้วจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายเลย ในรายงานการประเมินผลยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับอุปสรรคและปัญหา เช่น เร่งรัดการจัดทำโครงการมากเกินไป จนหน่วยงานขาดความพร้อม ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำกับดูแล แต่ก็ถือว่าเราได้บทเรียนและได้เห็นการประเมินที่ชัดเจน ดังนั้น ถ้าเราคิดแบบเดิม วิธีการเดิม ผลลัพธ์คงไม่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

แนะออก พรบ.ฟื้นฟูการจ้างงาน – สร้างกลไกตรวจสอบการใช้เงิน
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เงินที่ใช้ในการฟื้นฟูประเทศ 1.9 ล้านล้านบาทนั้นน่าจะไม่เพียงพอ วิกฤตคราวนี้ดิ่งลึกกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ อาจจะพอๆ กับวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์กระตุ้นไป 3-4 แสนล้าน ยังได้จีดีพีเพิ่มมาแค่ 0.5% ดังนั้น ครั้งนี้ถ้าเราจะใช้เงินเท่ากับเมื่อ 10 ปีที่แล้วจะเป็นไปได้อย่างไร ซึ่งลองดูประเทศอื่นๆ นั้น ใช้เม็ดเงินเฉพาะรายจ่ายการคลังหรือ fiscal stimulus ในระดับที่สูงกว่าเรา ทั้งๆ ที่บางประเทศถูกกระทบน้อยกว่าเรามาก ทั้งนี้ เราไม่ควรกังวลเรื่องสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีกำลังจะชนเพดานกรอบวินัยการเงินการคลัง เพราะจะเกินแน่ๆ อยู่แล้ว ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็พุ่งขึ้นไปเป็นกว่า 70% แต่ไม่ได้บอกอะไรกับเรามากนัก นอกจากใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศ สิ่งที่ควรต้องดูมากกว่าคือภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ เหมือนเวลาเราไปกู้ธนาคารเค้าต้องดูรายได้ของคนที่จะใช้คืนหนี้ว่าส่งไหวหรือไม่ นั่นก็คือเงินค่างวดที่ต้องจ่ายในแต่ละปีเทียบกับรายได้รัฐบาล ของไทยตอนนี้อยู่ที่ 6.7% ช่วงนี้เป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก เราน่าจะใช้โอกาสนี้ แต่ภาระดอกเบี้ยเราน่าจะต่ำกว่านี้ได้ ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยของหนี้รัฐบาลนั้นสูงถึง 3.2% แต่ถ้ากู้ใหม่ในเวลานี้ดอกเบี้ยในตลาดบอนด์นั้นเพียง 1.1% เท่านั้น
“แผนฟื้นฟูในระยะสั้นที่อยากเห็น คือต้องฟื้นฟูจริงๆ หลังการระบาดในระลอกแรกนี้ เศรษฐกิจเราก็เหมือนคนเพิ่งฟื้นจากโคม่า จะมากระตุ้นเศรษฐกิจเลย คือจะให้เศรษฐกิจเริ่มวิ่งเลยคงเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้อยากเห็นแผนฟื้นฟูประเทศที่เป็นภาพรวมทั้งหมด ว่าจะเอาอย่างไรต่อจากนี้ ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว ตอนนี้ยังเห็นแค่แผนระยะสั้น ซึ่งจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการใช้งบประมาณปี 2564 ที่จะเกิดในไม่กี่เดือนข้างหน้า อย่างน้อยถ้ารัฐบาลสามารถฉายภาพให้ข้าใจได้ว่าจะพาประเทศไปในทิศทางใด โดยงบประมาณปี 2564 ที่รื้อมาแล้ว 2 รอบเราก็ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยตอบโจทย์ใหญ่อย่างเช่น ความมั่นคงทางสาธารณสุข ด้านอาหาร และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกไปได้อย่างไร นอกจากการมีงบกลางในการแก้ปัญหาโควิดเพิ่มขึ้นมา 40,000 ล้านบาท” ศิริกัญญา กล่าว
“พรรคก้าวไกลจึงขอเสนอดังนี้ ว่าควรออก พ.ร.บ. ฟื้นฟูการจ้างงานและพัฒนารายได้ เนื่องจากความไม่แน่นอนสูง ต้องสำรองเงินเยียวยา และคิดให้รอบคอบ รัดกุม ครอบคลุมกว่านี้มองให้เห็นแผนภาพรวม มุ่งตอบโจทย์ที่ประเทศกำลังจะเผชิญหลังโควิด ทั้งยังต้องสร้างกลไกการตรวจสอบ ประเมินผล กระบวนการรับผิดรับชอบก่อนเริ่ม และยึดโยงกับประชาชน และที่สำคัญต้องถอดบทเรียนจากความผิดพลาดในอดีต ซึ่งเงินเยียวยา 555,000 ล้านบาทตอนนี้ใช้ไป 350,000 ล้านบาทแล้ว และยังมีคนตกหล่นอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งแรงงานในระบบ ผู้ประกอบการ สิ่งที่ต้องคิดคือจะทำอย่างไรหากเกิดการระบาดระลอกใหม่ สาธารณสุขเราได้เตรียมความพร้อมแค่ไหนไม่ว่าจะเป็นวัคซีน และอุปกรณ์การแพทย์ด้านอื่นๆ รวมทั้งการตรวจเชื้อ เพราะถ้าเตรียมเรารับมือได้ดี เราจะไม่ต้องล็อกดาวน์นานในรอบต่อไป” น.ส.ศิริร กัญญา กล่าว